สร้างประชาชาติแห่งการอ่าน

๑. สร้างกิจกรรมการอ่านเพื่อความเพลิดเพลินในองคาพยพที่เกี่ยวข้อง 

ก. การอ่านในครอบครัว เรื่องนี้ไม่มีใครบอกได้ชัดเจนว่าต้องทำอย่างไร แต่เป็นเรื่องรากฐานที่สำคัญ เพราะหากเริ่มที่ครอบครัวได้ ทุกอย่างก็จะง่าย แต่ครอบครัวที่สนใจและจริงจังกับการเลี้ยงดูลูกก็มีน้อย ส่วนมากไม่เข้าใจความสำคัญของการอ่านในเด็ก ยิ่งเมื่อพ่อแม่ก็ไม่อ่าน ก็ยิ่งยากครอบครัวที่ทำสำเร็จจึงมักเป็นคนชั้นกลาง

ข. โรงเรียน : พัฒนาการอ่านเพื่อความเพลิดเพลินในเด็ก

– “การอ่านให้ฟัง” ที่สมาคมไทสร้างสรรค์ ทำงานผลักดันมาโดยตลอดได้ผลน้อยมากเมื่อทำงานกับโรงเรียน เนื่องจากครูมองเด็กต้องอ่านเอง และการอ่านเป็นการหาความรู้ การอ่านที่โรงเรียนทำจึงไม่ได้ผล ทั้งยังทำให้เด็กหมดความสนใจในการอ่าน เพราะถูกทำให้เป็นงานอันน่าเบื่อ

หนังสือในห้องสมุด เต็มไปด้วยหนังสือความรู้ (วรรณคดี โบราณคดี ประวัติศาสตรฺ์ ฯลฯ) ซึ่งไม่ใช่หนังสือที่เด็กๆสนใจ เด็กจึงแทบไม่ได้ประโยชน์

ทักษะการอ่าน เด็ก ๘๐% มีทักษะการอ่านต่ำกว่าเกณฑ์ตามระดับชั้นเรียน ผู้เขียนพบว่าเด็ก ป.๔-ม.๓ ส่วนใหญ่มีทักษะการอ่านอยู่ในระดับประถมศึกษาชั้นต้นๆเท่านั้น ดังนั้นต่อให้มีหนังสือดีมากเพียงใดเด็กก็ไม่อ่าน เพราะอ่านยากอ่านลำบาก

การอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน เป็นสิ่งที่ครูจำนวนมากนึกไม่ออกว่าจะเกิดประโยชน์อันใดต่อเด็ก เพราะครูเองก็ไม่ได้ชอบอ่านหนังสือเพื่อความเพลิดเพลิน ไม่อ่านนิยาย นิตยสาร ฯลฯ การอ่านไม่ได้อยู่ในความสนใจส่วนตัว ไม่รู้จักหนังสือ การส่งเสริมให้เด็กทำในสิ่งที่ตนเองก็ไม่สนใจจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

บันทึกการอ่าน นอกจากจะเป็นเรื่องหลอกลวงแล้ว ยังทำให้เด็กเห็นการอ่านเป็นภาระอันหนักหน่วง แม้แต่เด็กๆในห้องสมุดเด็กที่ผู้เขียนทำงาน หลายคนอ่านวรรณกรรม ๕-๘ เล่มต่อเดือนจนเป็นปกติ ก็ยังต้องทำรายงานปลอมขึ้นมาส่งครู เพราะอ่านไม่ไหว ครูให้งานมากเกินไป ทั้งยังไม่ใช่หนังสือที่พวกเขาสนใจ ฯลฯ ​ บันทึกการอ่าน กลายเป็นบาปที่สร้างขึ้นโดยโรงเรียน โดยทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งเด็ก ครู ผู้บริหาร และศึกษานิเทศ ล้วนรู้ว่าไม่มีใครอ่านจริง แต่มีรายงานส่งครูเพื่อเอาคะแนน ส่วน

๒. สถาบันฝึกหัดครู : จบครูต้องมีความรู้การพัฒนาการอ่าน

โรงเรียนสอนครูเป็นต้นทาง หากจบครูมาพร้อมกับความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการพัฒนการอ่านในเด็ก การจะก้าวไปสู่ประชาชาติแห่งการอ่านก็คงไม่ยาก เพราะความยากลำบากในการผลักดันให้เกิดผล ล้วนเกิดจากข้อจำกัดด้านความรู้และทักษะของครู โดยครูเกือบทั้งหมดยังติดอยู่กับการ “เล่านิทาน” ซึ่งแตกต่างจากการอ่านหนังสือให้ฟัง

ครูไม่รู้เทคนิคการจัดการการอ่านในชั้นเรียน เลือกหนังสือไม่เป็น ไม่รู้จักหนังสือ ไม่รู้ประโยชน์ของการอ่านให้ฟังซ้ำๆ ฯลฯ การอ่านให้ฟังจึงถูกมองว่าเป็นเพียงกิจกรรมสนุกๆเล็กน้อย ฯลฯ

๓. สร้างความรู้ : การพัฒนาการอ่านและหนังสือ

เป็นเรื่องน่าแปลกใจมากที่คนมีหน้าที่เกี่ยวกับการอ่าน มีความรู้ด้านหนังสือจำกัดมาก โดยเฉพาะในกลุ่มหนังสือสำหรับเด็กและเยาวชน เมื่อไม่รู้จักหนังสือ มองไม่ออกว่าเสน่ห์ของหนังสือเล่มนั้นๆอยู่ตรงไหน สนุกหรือน่าสนใจอย่าง การผลักดันการอ่านจึงเป็นไปไม่ได้