ทำไมเด็กไทยไม่อ่านหนังสือ ?
ประการแรก : การอ่านถูกมองว่าเป็นการหาความรู้ การอ่านจึงเป็นเรื่องเครียด ไม่สนุก เด็กจึงหลีกหนี เห็นได้จากหนังสือความรู้ในห้องสมุดโรงเรียนที่มีมากมาย แต่เด็กๆไม่สนใจ หนังสือที่เด็กๆสนใจ เราเรียกว่า “หนังสืออ่านเล่น” ผู้ใหญ่กลับมองว่าไม่มีประโยชน์เพราะไม่มีความรู้ อ่านเสียเวลาเปล่า เด็กๆจึงถูกปิดกั้น ขาดโอกาสซึมซับ พัฒนาความเพลิดเพลินจากการอ่าน
ประการที่สอง : ผู้ใหญ่ทั้งหลายเข้าใจว่า เมื่อมีหนังสือ “เด็กที่ดี” ก็ต้องอ่านเอง ไม่รู้ว่าการอ่านมาจากการ “ฟัง” กล่าวคือ ผู้ใหญ่ต้องอ่านให้พวกเขาฟัง และอ่านให้ฟังมากๆตั้งแต่เล็กๆ (ระดับอนุบาลหรือก่อนอนุบาล) ส่วนคนที่พอจะอ่านได้เช่นกลุ่มที่เรียนชั้นประถมต้นส่วนใหญ่ก็ยังอ่านไม่คล่อง อ่านลำบาก การอ่านให้ฟังง่ายสำหรับพวกเขา ได้เพลิดเพลินไปกับหนังสือ เกิดทัศนเชิงบวกต่อหนังสือ ได้รู้ว่าหนังสือนั้นสนุก พวกเขาจึงจะเข้าไปสู่การอ่านด้วยตนเองภายหลัง
ประการที่สาม : ห้องสมุดที่สมาคมไทสร้างสรรค์สร้างร่วมกับชุมชนปิดไปแล้วมากกว่า ๒๐ แห่ง เพราะไม่มีเด็กเข้าไปใช้ ส่วนที่ยังอยู่มาได้ก็เพราะได้ทำงานกับบุคลากรที่นั่นมาพอสมควร พัฒนาแนวทางการจัดการหนังสือ ฝึกและสอนการจัดการกิจกรรมกระตุ้นการอ่านจนสามารถทำได้เอง ดังนั้นหากห้องสมุดล้มเหลวเพราะไม่มีคนใช้ จึงไม่ใช่ปัญหาที่ตัวเด็กๆ แต่อยู่ที่วิธีทำงาน ผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่งบอกว่า “ไมเคิล จอร์แดน ไม่ได้เกิดมาพร้อมกับความเป็นนักบาสฯ และ จิมมี แฮนดริก ก็ไม่ได้เกิดมาพร้อมกับความสามารถในการเล่นกีตาร์” แต่พวกเขาถูกสร้างขึ้น สร้างแรงขับจากภายใน ในวัยเด็ก ดังที่นักวิทยาศาสตร์อีกท่านหนึ่งบอกว่า “การอ่านไม่มีอยู่ในดีเอ็นเอของมนุษย์” การอ่านอยู่เหนือข้อกำหนดของดีเอ็นเอ การอ่านเป็นสิ่งที่ต้องสร้างขึ้น
วิธีสร้างนักอ่านที่ได้ผลดีที่สุดคือนำเสนอความสุขจากการอ่านให้ฟัง เมื่อเด็กๆเพลิดเพลินและชื่นชอบหนังสือมากพอ สมองของพวกเขาก็จะจดจำว่าหนังสือเป็นของสนุก ทั้งภาพ ภาษาและเรื่องราว เมื่อการจดจำนี้มั่นคง การอ่านเป็นความสุข ซึ่งพวกเขาก็จะทำซ้ำๆ ไปไม่สิ้นสุด
สรุปว่าเด็กๆที่ไม่ชอบอ่าน ไม่สนใจการอ่าน เป็นผลจากหลายอย่าง ตั้งแต่ ไม่เคยมีใครอ่านให้ฟัง ทักษะการอ่านแย่ ทัศนะคติต่อการอ่านไม่ดี ขาดการส่งเสริม รวมทั้งจากวิธีการทำงานที่ผิดพลาด ผิดทาง ทำให้เด็กรู้สึกว่าการอ่านเป็นภาระ เป็นงานอันเหนื่อยยาก … บันทึกการอ่าน
ผู้เขียนบทความ : ธีรวงศ์ ธนิษฐ์เวธน์