การทำงานโครงการสร้างนักอ่าน

โครงการสร้างนักอ่าน เป็นโครงการศึกษาแนวทางการพัฒนาเด็กด้วยการอ่านในระดับบุคคล โดยใช้กิจกรรมการ “อ่านหนังสือให้ฟัง” ปลูกฝังการเรียนรู้จากการอ่านให้แก่เด็กๆ ในชนบท ด้วยหลักฐานทางวิชาการบ่งชี้ว่า การเรียนรู้ในระบบโรงเรียนจะสัมฤทธิผลมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับต้นทุนทางการเรียนรู้ที่ได้รับช่วงปฐมวัย ทั้งด้านพฤติกรรม ความสนใจใคร่รู้ พื้นฐานความสนใจการอ่านและการเขียน หรือการเรียนรู้โดยใช้สัญลักษณ์เป็นเครื่องมือ ซึ่งพบว่า เด็กๆในชนบทที่ประกอบด้วยเด็กยากจน และเด็กสองภาษา ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุด มักมีข้อจำกัดเนื่องจากขาดการส่งเสริม วางรากฐาน  ผู้ปกครองขาดความสามารถที่จะให้ความช่วยเหลือ ทั้งจากข้อจำกัดด้านเวลาทำมาหากิน ความรู้และการเข้าถึงเครื่องมือที่จำเป็น

โครงการจึงมุงเน้นการทำงานในบริบททางชุมชน ภาษา และวัฒนธรรมที่แตกต่าง โดยเริ่มทำงานในหมู่บ้านชาวเขา ๓ เผ่า พื้นที่จังหวัดลำปาง จำนวน ๘ หมู่บ้าน เด็กสมาชิกโครงการ ๑๕๒ คน ผู้ปฏิบัติงานอ่านหนังสือให้เด็กฟังจำนวน ๑๙ คน และหมู่บ้านชาวไทยอีสานจำนวน ๒๑ หมู่บ้านในจังหวัดขอนแก่น สุรินทร์ และกาฬสินธุ์ รับเด็กสมาชิกโครงการจำนวน ๔๕๔ คน ผู้ปฏิบัติงาน ๕๕ คน เพื่อศึกษาเปรียบเทียบเงื่อนไขการทำงานที่ส่งผลต่อการพัฒนากิจกรรมการอ่านให้ฟัง ประสิทธิภาพของการจัดกิจกรรม ความยุ่งยาก ปัญหาจำเพาะ แนวทางการแก้ไขเงื่อนไข และปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลต่อการดำเนินงาน ทั้งการเมืองท้องถิ่น สภาพชุมชน ภาษา สภาพสังคม เศรษฐกิจ และองค์ประกอบอื่นๆที่เกื้อหนุนให้กิจกรรมบรรลุผล ซึ่งหมายถึงความก้าวหน้าทางการเรียนรู้ของเด็กกลุ่มเป้าหมาย  

     อนึ่ง บทเรียนในการทำงานระยะแรกชี้ว่า นักเรียนประถมศึกษาตอนปลาย และมัธยมศึกษาตอนต้น (ในที่นี้ขอเรียกว่า “เยาวชน”)​ เป็นกลุ่มผู้อ่านหนังสือให้เด็กฟัง(เรียกว่า “นักอ่าน”)​ ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เนื่องจากมีความพร้อมรับการฝึกทักษะ เรียนรู้การ “ทำงาน” จริง กล่าวคือ  ทำงานแล้วได้รับค่าตอบแทน ได้ฝึกการจัดทำเอกสารบันทึกพื้นฐาน สร้างปฏิสัมพันธ์กับเด็กสมาชิกและผู้ปกครอง ซึ่งเกิดผลดีต่อพวกเขา ได้รับการยอมรับจากผู้ปกครองเด็ก เป็นที่รักของน้องๆ ได้รับการยกย่องจากผู้นำชุมชน เป็นต้น นอกจากนั้น การอ่านหนังสือให้น้องฟังเป็นประจำ ยังมีส่วนช่วยให้พวกเขาได้พัฒนาทักษะการอ่าน ซึ่งนักอ่านทุกคนที่ผ่านการทำงานมามากกว่า ๓ เดือนล้วนยืนยันว่า ผลการเรียนของตนดีขึ้น อ่านหนังสือเรียนได้เร็วขึ้น และชอบที่จะทำงานต่อไป 

ดังนั้น โครงการฯ จึงมุ่งเป้าไปที่เด็กเล็ก วัย ๑-๕ ขวบ (ในบางกรณีมีวัย ๖ ขวบอยู่ด้วย) และเยาวชนนักอ่านไปพร้อมกัน และพบว่า การติดตามสนับสนุนนั้นมีผลโดยตรงต่อการพัฒนาเยาวชนนักอ่าน เนื่องจากส่วนใหญ่ขาดพื้นฐานการอ่านที่แข็งแรง และแม้ว่าผู้ที่เข้าทำงานในฐานะ “นักอ่าน” ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มที่มีผลการเรียนดี แต่ทักษะการอ่านก็ยังต่ำกว่ามาตรฐาน กล่าวคือยังไม่สามารถหนังสือทั่วไปได้อย่างคล่องแคล่ว ในขณะเดียวกัน และมีไม่น้อยที่มีปัญหาทั้งด้านครอบครัวและการเรียนไปพร้อมกัน ครอบครัวแตกแยก ขาดความรัก ผู้ปกครองทำงานรับจ้างอยู่ในเมืองใหญ่ ตายายเป็นผู้เลี้ยงดู มีพฤติกรรมเสี่ยง โดยนักอ่านในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น มีปัญหามากที่สุด

ด้านเด็กสมาชิกโครงการนั้น  คณะทำงานพบว่า เด็กชาวเขามีพัฒนาการทางการอ่านและภาษาช้ากว่าเด็กไทยอีสาน เนื่องจากภาษาพื้นฐานแตกต่างจากหนังสือโดยสิ้นเชิง ความพยายามใช้หนังสือที่ก้าวหน้าและซับซ้อนยิ่งขึ้นจึงทำได้น้อยกว่า เพราะแม้สมาชิกรุ่นแรกที่มีอัตราการอ่านให้ฟังใกล้ ๑,๐๐๐ รอบ (หรือเล่ม) แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถนำเสนอหนังสือในระดับความรู้พื้นฐานมาสร้างความสนใจได้ เพราะส่วนใหญ่ขาดความเข้าในภาษาไทย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กชาวอาข่า ที่ผู้ปกครองใช้ภาษาไทยน้อย ระดับความก้าวหน้าจึงน้อยกว่าเด็กกลุ่มอื่นๆ ในขณะที่เด็กๆชาวเมี่ยน ซึ่งมีทักษะการเรียนรู้ภาษาดีกว่า สามารถเข้าถึงหนังสือที่มีขนาดความยาว และภาษาหลากหลายได้เท่าๆกับกลุ่มเด็กอาข่าข้างต้น แม้ว่าจะได้ฟังมาเพียง ๔๐๐-๖๐๐ รอบ-เล่มก็ตาม ส่วนเด็กๆชาวอีสานนั้น มีระดับความสามารถเข้าถึงเนื้อหาและเรื่องราวของหนังสือได้ตามปกติ กล่าวคือมีจำนวนหนึ่งที่มีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ขณะที่ส่วนใหญ่เป็นไปตามปริมาณการอ่านให้ฟังสะสม