มิชิทาโร มอริตะ กับ โครงการสร้างนักอ่าน

มิชิทาโร มอริตะ กับ โครงการสร้างนักอ่าน

ข่าวการเสียชีวิตของ คุณมิชิทาโร มอริตะ นำความโศกเศร้าอย่างสุดซึ้งมาสู่ญาติมิตรโรตารีในประเทศไทย และถึงเพื่อนพี่น้องที่สมาคมไทสร้างสรรค์ เนื่องจากรู้จักและทำงานร่วมกับท่านมานานกว่าสิบปี ได้เห็นความตั้งใจและจิตใจที่มีแต่การช่วยเหลือผู้อื่นของท่านมาโดยตลอด

ตอนเริ่มโครงการสร้างนักอ่านที่บ้านปางปูเลาะ อ.แม่ใจ จ.พะเยานั้น คณะทำงานไม่ได้คิดกันหรอกว่าจะเดินทางมายาวไกลมาถึงเพียงนี้ เราเริ่มทำงานเพียงเพราะเห็นว่านอกจาก “ห้องสมุด” หลายสิบแห่งที่มีส่วนร่วมสร้างจะทำงานไม่ได้ผลแล้ว ยังมีเด็กๆอีกจำนวนมากขาดพื้นฐานการอ่าน และส่วนใหญ่ก็อยู่ห่างไกลไม่มีโอกาสเข้าถึงสถานที่เหล่านั้น และแม้ว่าเราจะออกแบบห้องสมุดขนาดเล็กที่เรียกว่า “ห้องสมุดเด็กไท” ขึ้นมา เพื่อให้ราคาค่าก่อสร้างถูกลงและรื้อถอนไปตั้งที่ใหม่ได้ในกรณีที่มีอุปสรรค แต่มันก็ไม่ได้ช่วยแก้โจทย์มากนัก เพราะเมื่อมีห้องสมุดก็ต้องมีการจัดการ มีค่าใช้จ่ายและภาระอื่นๆตามมาหลายอย่าง ซึ่งล้วนเป็นเหตุของการไม่บรรลุผลของห้องสมุดทั้งสิ้น รถ Book Bike ก็ทำได้จำกัดและมีต้นทุนสูง หรือแม้แต่ห้องสมุดโรงเรียน ก็มีเงื่อนไขมากมายที่เป็นอุปสรรคในการอ่านของเด็กๆ

โครงการสร้างนักอ่านจึงเริ่มขึ้นโดยมีประเด็นหลักอยู่ที่การ “อ่านให้ฟัง” อย่างเพียงพอ เพราะเป็นเงื่อนไขเดียวที่จะพาพวกเขาไปสู่ความสำเร็จในการอ่าน พวกเราจึงทดลองทำโครงการโดยไม่คิดอะไรมากกว่านั้น แต่เชื่อมั่นว่าจะเกิดผลดี เพราะเป็นวิธีที่ทำกี่ครั้งก็ได้ผล พวกเราจึงเริ่มทำงานโดยไม่มีทุนรอนใดๆ เมื่อทำไปได้เดือนกว่าๆ ผลก็เริ่มเกิด เด็กๆเริ่มเปลี่ยน และเราก็เริ่มออกแบบโครงการกันอย่างจริงจัง(มกราคม ๒๕๕๘) พร้อมกับส่งข่าวขอความช่วยเหลือไปยังญาติมิตรทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ และคุณมอริตะก็เป็นหนึ่งในนั้น

เดือนถัดมา เสียงตอบรับคนแรกมาจากคุณมอริตะ ที่แจ้งว่าอยากไปดูโครงการในพื้นที่ โดยจะไปพบพวกเราที่ขอนแก่น แล้วนั่งรถสมาคมไปลำปางและพะเยาด้วยกัน(ใช้เวลา ๗-๘ ชั่วโมง) คุณมอริตะ ในวัย ๗๔ เดินทางไปกับพวกเราอย่างสดชื่นจนถึงที่หมาย เข้าหมู่บ้านไปพบ นักอ่าน เด็กๆและพ่อแม่ ในอำเภองาว จ.ลำปาง และ อ.แม่ใจ จ.พะเยา สามวันต่อมาก่อนแยกย้ายกันพวกเราขอโทษที่การเดินทางไม่ค่อยสะดวกเพราะรถยนต์ของสมาคมใช้งานมานานมากแล้ว สภาพไม่ค่อยดี นั่งไม่ค่อยสบาย ท่านบอกว่า “ไม่เป็นไรหรอก เมื่อถึงวันที่โครงการประสบความสำเร็จ เครื่องไม้เครื่องมือก็จะตามมาเอง” และท่านทิ้งท้ายว่าจะหาทางช่วย กระทั่งกลายเป็นทุนก้อนแรกของโครงการในเวลาสามเดือนต่อมา

หลายเดือนต่อมา คุณมอริตะ โทรทางไกลจากญี่ปุ่นบอกว่า จะไปขอนแก่นและขอเวลาพบสักครึ่งชั่วโมง เมื่อพบกันท่านก็เปิดกระเป๋าเอกสาร หยิบซองยื่นให้ และกล่าวว่า  “ภรรยาของผมฝากเงินมาช่วยโครงการ มันไม่มากนัก แต่ครอบครัวของผมก็อยากช่วย เพราะเป็นโครงการที่ดี” พวกเรารับซองด้วยน้ำตาซึมๆ แน่นในคอ พูดไม่ออก … แล้ววันรุ่งขึ้นท่านก็เดินทางกลับ จึงได้ทราบว่าท่านเดินทางไปขอนแก่นก็เพียงเพื่อจะนำเงินไปให้ ไปช่วยโครงการเท่านั้น ไม่มีธุระอื่นใด และท่านเคยพูดสองสามครั้งว่า การติดต่อกันทางโทรศัพท์หรืออีเมลนั้นรวดเร็ว แต่แตกต่างจากการได้พบกัน เห็นกันต่อหน้า

อีกหลายเดือนต่อมาเมื่อท่านกลับไปเยี่ยมโครงการพร้อมกับเพื่อนๆอีกหลายคน พวกเราบอกท่านว่า หากไม่มีท่าน เราก็คงไม่สามารถทำงานกับเด็กๆจำนวนมากได้ในวันนี้ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับพวกเราคือกำลังใจและความเชื่อมั่น ซึ่งท่านเป็นบุคคลแรกที่ให้สิ่งนั้นแก่ทีมงาน แล้วท่านก็ตอบว่าสิ่งที่ท่านช่วยเป็นเรื่องน้อยนิดมากหากเทียบกับความเหนื่อยยากของคณะทำงาน

วันนี้ โครงการสร้างนักอ่าน (หรือ โครงการนำหนังสือสู่มือน้อง) ทำงานอยู่ใน ๓๓ หมู่บ้าน ๖ จังหวัด  มีเยาวชนนักอ่านมากกว่า ๙๐ คน ทำงานอ่านหนังสือเด็กๆมากกว่า ๖๒๐ คนฟังทุกวัน 

จึงไม่เกินเลยใดๆที่จะกล่าวว่า หากวันนั้นท่านไม่ได้เดินทางมาเยี่ยมพวกเรา มาให้กำลังใจและช่วยเหลือพวกเราในขณะที่ไม่มีใครเลย โครงการก็คงไม่พัฒนาไปอย่างที่เป็นอยู่ คุณมอริตะ จึงเป็นทั้งญาติและมิตรที่อยู่เคียงข้างพวกเราเสมอมา

คุณ สมชาย เจียรนัยพานิช อดีตผู้ว่าการภาค 3340 โรตารีสากล ประธานโครงการห้องสมุดเพื่อเด็กและครอบครัว กล่าวถึงคุณมอริตะว่า “เมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพ ในปี 2554 ท่านผู้นี้ได้รวบรวมเงินบริจาคในภาคของท่านและโรแทเรียนในประเทศญี่ปุ่น ส่งมาผ่านภาค 3340 เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นเงิน หนึ่งล้านบาท หลังจากช่วยผู้ประสบภัยแล้วยังมีเงินเหลืออยู่อีกจำนวน หนึ่งจึงตั้งเป็นกองทุนช่วยผู้ประสบภัยของภาค 3340 มาจนบัดนี้ ส่วนหนึ่งของเงินกองทุนนี้ได้นำมาช่วย ภัยพิบัติต่างๆในภาค 3340 หลายครั้งรวมทั้งครั้งล่าสุดที่จังหวัดสกลนครและจังหวัดต่างๆในภาคอีสาน ท่านผู้นี้ยังเป็นผู้ที่หาทุนให้กับโครงการห้องสมุดเพื่อเด็กและครอบครัวภาค 3340 โรตารี่สากลมาตั้งแต่เริ่มต้น. รวมทั้งโครงการทุนสมทบของโรตารี่อีกหลายโครงการของภาค 3340 และภาคอื่นๆในประเทศไทย”

สิ่งที่ท่านช่วย โครงการสร้างนักอ่าน จึงเป็นเพียงอีกหนึ่งความดีงามในการดำรงอยู่เพื่อผู้อื่นของท่าน และก็ช่างน้อยนิดเมื่อได้ทราบว่าท่านได้ทำสิ่งใดไปบ้าง เพื่อเด็กๆและผู้คนจำนวนมากในประเทศไทย วันนี้ท่านล่วงหน้าพวกเราไปแล้ว แต่สิ่งที่ท่านทำเอาไว้จะคงอยู่กับเรา อยู่กับเด็กๆและพัฒนาสืบไป

ขอบคุณ มิชิทาโร มอริตะ ความดีงามของท่านจะอยู่กับพวกเราและเด็กๆตลอดไป