สร้างนักอ่าน คือการสร้างชาติ
สมาคมไทสร้างสรรค์ องค์กรพัฒนาเอกชน ทำงานด้านการพัฒนาเด็กด้วยการอ่านมากว่า ๒๐ ปี ก่อตั้งห้องสมุดเด็กหลายสิบแห่ง ประกาศยุติการทำงานห้องสมุดเด็ก เบนเข็ม “สร้างนักอ่าน” ร่วมกับชุมชนมาหลายปีแล้ว ด้วยเห็นว่าการสร้างห้องสมุดใช้ทรัพยากรจำนวนมาก แต่สร้างผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านได้น้อย สร้างเด็กให้เป็นนักอ่านได้จำกัด เห็นได้จากห้องสมุดจำนวนมากที่มีผู้ใช้งานน้อยจนขาดความคุ้มค่า
แนวคิดการสร้างนักอ่าน ได้รับการขานรับจาก กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สนับสนุนงบประมาณดำเนินงาน โครงการนำหนังสือสู่มือน้อง ที่บ้านหนองแตง ตำบลศรีบุญเรือง อ.ศรีบุญเรื่อง จ.หนองบัวลำภู หนึ่งในโครงการต้นแบบ ที่ทำงานร่วมนักเรียนประถมศึกษาปีที่ ๖ ในหมู่บ้าน โดยพวกเขาทำหน้าที่อ่านหนังสือให้น้องๆวัยเด็กเล็กฟังเป็นประจำสม่ำเสมอ หลังได้ รับการการฝึกทักษะการอ่านให้ฟังที่โครงการฯติดตามช่วยเหลือ รับน้องๆเข้าเป็นสมาชิกโครงการ จัดหาหนังสือดีที่สมาคมฯคัดเลือกมาแล้วว่าเหมาะสมต่อการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก วางแผนการอ่านให้ฟัง แล้วลงมือทำงานโดยเดินไปอ่านให้น้องฟังทีละคน ทีละบ้าน ซึ่งถือเป็นกิจกรรมอันเป็นหัวใจของโครงการ
นายธีรวงศ์ ธนิษฐ์เวธน์ เลขาธิการสมาคมไทสร้างสรรค์ กล่าวว่า “ปริมาณการฟังสะสม เป็นตัวชี้วัดขนาดของต้นทุนทางการเรียนรู้ที่เด็กจะได้รับ ได้ฟังมากก็จะได้มาก ได้ฟังน้อยก็ได้น้อยหรือไม่ได้เลย ดังนั้นความก้าวหน้าของเด็กจึงขึ้นอยู่กับเรื่องนี้ นักอ่านจึงต้องทำงานต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพื่อให้น้องได้ฟังสะสมอย่างน้อย ๑,๐๐๐ ครั้ง แล้วเราก็จะมั่นใจได้ว่า เด็กๆจะชอบหนังสืออย่างแท้จริง อยากอ่านหนังสือออกด้วยตนเอง ได้คำศัพท์และภาษาจากหนังสือมากพอที่จะช่วยให้เรียนได้ดีในอนาคต”
“เด็กๆทุกคนพร้อมที่จะติดใจ หลงไหล สิ่งต่างๆรอบตัวได้เสมอ ทั้งสิ่งที่สร้างผลลบ เช่น ทีวี เกมส์ มือถือ ขนมหวาน ฯลฯ และ “หนังสือ” ที่จะสร้างผลบวกต่อชีวิตพวกเขาในระยะยาว แต่เราก็ไม่ค่อยนึกถึงหนังสือ ไม่คิดว่าเด็กๆก็ติดหนังสือได้ และการทำงานกับหนังสือก็ต้องใช้เวลาและความหมั่นเพียร แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วมันจะสร้างผลบวกต่อชีวิตพวกเขาและสังคมอย่างมากมาย””
นายธีรวงศ์ ธนิษฐ์เวธน์ เลขาธิการสมาคมไทสร้างสรรค์ กล่าวว่า “ปริมาณการฟังสะสม เป็นตัวชี้วัดขนาดของต้นทุนทางการเรียนรู้ที่เด็กจะได้รับ ได้ฟังมากก็จะได้มาก ได้ฟังน้อยก็ได้น้อยหรือไม่ได้เลย ดังนั้นความก้าวหน้าของเด็กจึงขึ้นอยู่กับเรื่องนี้ นักอ่านจึงต้องทำงานต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพื่อให้น้องๆได้ฟังสะสมอย่างน้อย ๑,๐๐๐ เล่ม แล้วเราก็จะให้มั่นได้ว่า เด็กๆจะชอบหนังสือ อยากอ่านหนังสือออกด้วยตนเอง ได้คำศัพท์และภาษาจากหนังสือมากพอที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จทางการเรียนในอนาคต”
“พี่นักอ่าน” ที่บ้านหนองแตงมี ๗ คน แต่ละคนต้องรับผิดชอบน้อง ๖ คน รวม ๔๒ คนซึ่งเป็นเด็กเล็กทั้งหมดในหมู่บ้าน โดยพี่ๆ อ่านหนังสือให้น้องแต่ละคนฟัง วันละ ๕ เล่ม แล้วบันทึกเพื่อเก็บรวบรวมเป็นสถิติประเมินความก้าวหน้า ขณะนี้เด็กๆที่บ้านหนองแตงได้ฟังสะสมแล้ว ๓๐๐-๔๐๐ รอบ และเกิดความเปลี่ยนแปลงในตัวของพวกเขา จนทุกฝ่ายเห็นได้อย่างชัดเจน ทั้งสมาธิ ภาษาพูด และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในทางบวก พวกเขาหลงไหลหนังสือและเรียกร้องให้พี่นักอ่านๆให้ฟังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งผู้ปกครองกว่า ๑๕ ครอบครัว ตัดสินใจรวบรวมเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้ชิดตั้งกลุ่มอ่านให้ลูกหลานฟัง แล้วยืมหนังสือจำนวนหนึ่งจากสมาคมไทสร้างสรรค์ เพื่อตั้งเป็นกองกลาง หมุนเวียนให้เพื่อนๆยืมไปอ่านให้บุตรหลานฟังเพิ่มเติม ด้วยเห็นว่าพวกเขาก็ช่วยลูกหลานได้ ไม่จำเป็นต้องรอโรงเรียน
“เด็กๆเห็นหนังสือเมื่อไหร่ก็เหมือนคนหิวข้าวเห็นของชอบ พอจะกินก็กินเยอะ กินเท่าไหร่ก็ไม่พอ” คุณมะลิ บุญสูงเนิน แม่น้องโซดา สมาชิกวัย ๔ ขวบกล่าวพร้อมกับรอยยิ้ม
โครงการนำหนังสือสู่น้อง มอบหนังสือที่เด็กๆชื่นชอบให้คนละ ๕ เล่ม โดยมอบให้ทีละเล่ม ตามความก้าวหน้า หนังสือเล่มท้ายๆจึงมีเนื้อหายาวขึ้น ภาษายากขึ้น ผู้ฟังต้องใช้สมาธิจดจ่อมากขึ้นและนานยิ่งขึ้น แตกต่างจากการแจกหนังสือทั่วไป เนื่องจากมีกระบวนการรองรับชัดเจนว่าหนังสือจะถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร
“เด็กๆทุกคนพร้อมที่จะติดใจ หลงไหล สิ่งต่างๆรอบตัวได้เสมอ ทั้งสิ่งที่สร้างผลลบ เช่น ทีวี เกมส์ มือถือ ขนมหวาน ฯลฯ “หนังสือ” ที่จะสร้างผลบวกต่อชีวิตพวกเขาในระยะยาว แต่เราก็ไม่ค่อยนึกถึงหนังสือ ไม่คิดว่าเด็กๆก็ติดหนังสือได้ และการทำงานกับหนังสือก็ต้องใช้เวลาและความหมั่นเพียร แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วมันจะสร้างผลบวกต่อชีวิตพวกเขาและสังคมอย่างมากมาย” นายธีรวงศ์ ธนิษฐ์เวธน์ กล่าวทิ้งท้าย
การสร้างนักอ่านตั้งแต่วัยเด็ก จึงเป็นการสร้างต้นทุนใหม่ให้เกิดแก่ประเทศชาติ นำสังคมไปสู่ประชาชาติแห่งการอ่าน และประชาชาติแห่งการอ่าน ย่อมสร้างสังคมคุณภาพได้ในท้ายที่สุด
บทความ : สุมาลี โพธิ์พยัค หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ