อ่านให้ฟัง 1,000 ครั้งคืออะไร

ผลการเก็บข้อมูลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคนซัส “Meaningful Differences in The Everyday Experience of Young American Children : Dr. Betty Hart and Todd Risley”  พบว่าเด็กตั้งแต่เกิดจนถึงวัย 4 ขวบที่มาจากครอบครัวที่แตกต่างกัน ได้ยินได้ได้ฟังเสียงของภาษาเข้าหูในจำนวนที่แตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ คือ เด็กที่มาจากครอบครัวนักวิชาชีพ เช่น แพทย์ ครู วิศวกร พยาบาล ได้ยินได้ฟังเสียงของภาษาผ่านหูมากถึง 45 ล้านคำ ขณะที่เด็กจากครอบครัวที่พ่อแม่เป็นพนักงานทั่วไป ได้ยินได้ฟังมา 25 ล้านคำ และที่ได้ยินได้ฟังน้อยที่สุด คือ เด็กที่อยู่ในกลุ่มพ่อแม่ยากจนหาเช้ากินค่ำ คือ 13 ล้านคำ ตัวเลขเหล่านี้บอกอะไรแก่เรา

งานวิจัยทุกชิ้นบอกตรงกันว่า เด็กที่มีประสบการณ์การได้ยินหรือได้ฟังคำศัพท์มามากเท่าใด ย่อมส่งผลดีต่อการเรียรู้ของเด็กมากเท่านั้น จึงไม่น่าแปลกสักนิดเลยว่า เหตุใดลูกคนหาเช้ากินค่ำจึงมีก้าวหน้าทางการศึกษาสู้ลูกของแพทย์ไม่ได้ แต่นั่นก็ใช่ว่าเราจะหมดหนทาง… เพราะเรามีเป้าหมาย 1,000 ครั้งรออยู่

จำนวนเฉลี่ยของคำที่มีอยู่ในหนังสือภาพสำหรับเด็กที่โครงการฯ ใช้อยู่ที่เล่มละ 500 คำ เมื่อพี่นักอ่านอ่านให้น้องฟังวันละ 4 เล่ม (นับเป็น 4 ครั้ง) ถ้าอ่านตามครบ 1,000 ครั้งคละเรื่องคละเล่มอย่างหลากหลาย น้องเล็กๆ ก็จะได้ยินได้ฟังคำจากหนังสือถึง 2,000,000 คำที่ซ้ำบ้างไม่ซ้ำบ้าง นอกเหนือการพูดจาสื่อสารในชีวิตประจำของเด็กแต่ละครอบครัว และโครงการ ‘นำหนังสือสู่มือน้อง’ ซึ่งสมาคมไทสร้างสรรค์ ได้รับการสับสนุนจากกองทุนคนไทยใจดี ทำงานร่วมกับเทศบาลตำบลเมืองแก อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ จึงทำให้เราได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้ง 4 แห่งในสังกัดเทศบาลตำบลเมืองแก ให้ครูผู้ดูแลเด็กอ่านหนังสือภาพให้เด็กฟังทุกวันๆ ละ 4 รอบๆ ละ 4 เล่ม เด็กๆ จึงได้ยินได้ฟังคำศัพท์จากหนังสือซ้ำไปซ้ำมาถึง 5,400,000 คำ ในเวลา 2 ปีที่เด็กอยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งนี่เป็นเพียงการอ่านให้ฟัง ยังไม่นับรวมถึงการสื่อสารตามปกติในชีวิตประจำของเด็ก ฉะนั้น เป้าหมายขั้นต่ำของโครงการ 1,000 ครั้งทั้งฟังจากพี่นักอ่านและฟังจากครูที่ศูนย์ฯ จึงหมายถึงเด็กได้ยินได้ฟังคำศัพท์จากหนังสือ 7,400,000 ครั้งเป็นอย่างต่ำ และหากในครอบครัวของเด็กๆ เหล่านี้มีการสื่อสาร

กันเพียง 13 ล้านคำเท่านั้น พวกเขาก็เข้าใกล้การได้ยินได้ฟังคำศัพท์ 25 ล้านคำอย่างง่ายดาย เพราะเป้าหมาย 1,000 ครั้งนั้นเป็นเพียงเป้าหมายขั้นต่ำของเรา

เมื่อเด็กเล็กกลุ่มนี้ ผ่านประสบการณ์การได้ยินได้ฟังคำศัพท์จากหนังสือภาพอย่างมากมายมาขนาดนี้ พวกเขาย่อมมีประสบการณ์อันล้ำค่ากับตัวอักษร พวกเขาเริ่มต้นจากการได้ยินเสียงอ่าน แล้วไล่สายตามองดูภาพ อาจจะเห็นตัวหนังสือบ้างแต่ไม่สนใจในเบื้องต้น สมองทำหน้าที่เชื่อมต่อสิ่งที่เห็นกับเสียงที่ได้ฟังเข้าด้วยกัน ดังนั้นเมื่อฟังพี่อ่านหนังสือนิทานไป สมองของน้องก็ทำงานไปด้วย เมื่อเห็นตัวหนังสือบ่อยๆ เข้า (อย่าลืมว่าเขาฟัง 7 ล้านคำ) การจดจำก็เริ่มขึ้น และการเชื่อมโยงเสียงของการอ่านเข้ากับตัวหนังสือที่มองเห็นเริ่มตามมา และเมื่อกระบวนนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ ทุกวันเป็นเวลานาน เด็กทุกคนจะคุ้นเคยกับพยัญชนะและสระ คุ้นเคยกับคำและประโยค คุ้นเคยกับการอ่าน และการอ่านหนังสือก็จะกลายเป็นเรื่องง่ายแสนง่ายเมื่อเด็กกลุ่มนี้ขึ้นสู่ชั้น ป.1 ดังนั้น เด็กที่อ่านหนังสือไม่ก็จึงไม่มี หากพวกเขาผ่านกระบวนการนี้

การป้องกันปัญหาเด็กอ่านหนังสือไม่ออกจึงต้องแก้ด้วยวิธี ‘อ่านหนังสือให้ฟัง’ ตั้งแต่เด็กยังอ่านหนังสือไม่ออก เพราะมีเครื่องมือที่หาง่าย เพียงมีหนังสือภาพจำนวนหนึ่ง แล้วลงมือทำงานตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างชัดเจน อย่ารอให้เด็กอ่านหนังสือไม่ออกแล้วค่อยมาตามแก้ไข เพราะเมื่อนั้นมันอาจจะสายไปเสียแล้ว

บทความ : ระพีพรรณ พัฒนาเวช