โครงการเยาวชนสร้างนักอ่าน

โครงการเยาวชนสร้างนักอ่าน ถือเป็นงานแปลกสำหรับกระทรวงสาธารณสุข เพราะไม่ได้เป็นเรื่องทางสุขภาพอย่างตรงไปตรงมา แต่เป็นเรื่องทางสุขภาพในระยะยาว เนื่องจากพื้นฐานการอ่าน ความสนใจในการอ่าน ( Download เอกสารสรุปกระบวนการทำงาน )เป็นสิ่งที่จะนำเด็กๆไปสู่ความรู้ นำไปสู่ความสนใจในการแสวงหาความรู้ด้วยเอง เด็กๆที่มีพื้นฐานการอ่านที่แข็งแรง จึงมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จทางการศึกษามากกว่า มีความเป็นอยู่ที่ดีกว่า เมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ และมีสุขภาพที่ดี มีอายุยืนยาวกว่า ดังนั้น พื้นฐานการอ่านจึงส่งผลต่อความคุณภาพชีวิตในทุกมิติ และนั่นคือเหตุผลที่ กรมส่งเสริมบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข พิจารณาตัดสินใจสนับสนุนโครงการนี้

ตำบลหนองกุงธนสาร อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น พื้นที่ดำเนินงานโครงการ เป็นตำบลค่อนข้างใหญ่ อยู่ใกล้ตัวอำเภอ เด็กๆจำนวนมากในตำบลจึงเข้าโรงเรียนในตัวอำเภอ ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย การสรรหาเยาวชนมาทำหน้าที่นักอ่านจึงไม่ง่ายนัก เพราะเมื่อไปเรียนไกลบ้านก็กลับบ้านค่ำ ไม่มีเวลาพอที่จะไปอ่านหนังสือให้น้องๆฟัง อีกปัญหาหนึ่งที่เรายังพบอยู่เสมอคือทักษะการอ่าน เด็กๆที่หนองกุงธนสารไม่ได้แตกต่างจากที่อื่นๆ ที่จำนวนมากมีทักษะการอ่านต่ำกว่าเกญฑ์อายุและชั้นเรียน อันเป็นเรื่องที่โครงการฯทำอะไรไม่ได้ เพราะไม่มีกำลังความสามารถ

เยาวชนนักอ่านของเรา ส่วนใหญ่เรียน ป.๕-๖ และพวกเขาเกือบทั้งหมดล้วนเป็นนักเรียนกลุ่มเรียนดีถึงดีที่สุด เช่นเดียวกับชุมชนอื่นๆที่สมาคมฯทำงาน ที่มีเฉพาะนักเรียนกลุ่มเรียนดีที่สุดเท่านั้นที่จะทำหน้าที่นักอ่านได้ดี เพราะมีทักษะการอ่านดี เป็นเด็กนิสัยดี น่ารัก และไม่วอกแวกไปในทางอื่น

โครงการนี้ เป็นพื้นที่ล่าสุดที่สมาคมฯได้ทำงานด้วย และได้พบปัญหาซ้ำๆกับที่อื่นๆ ซึ่งทำให้เห็นอีกครั้งว่า เด็กๆของเราอยู่ในความเสี่ยงสูงมากเพียงใด และการทำงานสร้างพื้นฐานการอ่านก็ยิ่งยากขึ้น  ตั้งแต่ผู้ปกครองหมดความเชื่อมั่นในโรงเรียนใกล้บ้าน ทักษะพื้นฐานของเด็กๆตกต่ำลงเรื่อยๆ เด็กๆเข้าถึงสื่อทุกชนิดโดยไม่มีความพร้อม ผู้ปกครองก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะช่วยเหลือหรือชักนำได้ พอเริ่มโต ฮอร์โมนเริ่มมา หมดความสนใจเรื่องการศึกษา เริ่มสังสรรค์ หลายคนเริ่มคบพื่อนต่างเพศตั้งแต่ชั้น ม. ๒ หลายคนแต่งงานตั้งตอนอยู่ชั้น ม.๓ แล้วชีวิตก็เข้าสู่วงจรเดียวกับคนรุ่นก่อนๆ วนเวียนอยู่อย่างนั้น ด้วยจำนวนที่มากขึ้น สัดส่วนมากขึ้น

ความหวังเล็กๆของสมาคมฯในการทำงานกับเด็กๆที่เป็นนักอ่านคือการได้เห็นพวกเขาสร้างตัวตนที่แข็งแรงขึ้น เชื่อมั่นในการศึกษา เชื่อมั่นในการเติบโตของตนเอง สนใจการอ่านและการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งพบว่าเกิดได้กับเด็กๆจำนวนมากที่สมาคมฯทำงานด้วย

………………………………………………………………………………………….

โครงการเยาวชนสร้างนักอ่าน เกิดขึ้นจากการประสานงานของ มูลนิธิวิจัยและพัฒนาอนามัย ที่สนับสนุนกิจกรรมของสมาคมฯมาโดยตลอด ทั้งการสนับสนุนให้สมาคมฯริเริ่ม โครงการนิทานเพื่อน้องใน พ.ศ ๒๕๔๕ ที่กลายเป็นต้นแบบของโครงการพัฒนาเด็กด้วยอ่านอันหลากหลายในชุมชนในเวลาต่อมา