การสร้างนักอ่านในชุมชน

งานการศึกษาเป็นงานยาก ยิ่งเรื่องการพัฒนาเด็กในชนบทด้วยแล้วยิ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันอย่างมาก ที่ไม่ง่ายเพราะพ่อแม่ในชนบทส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงสื่อด้านการพัฒนาเด็กเท่ากับคนเมือง และนอกจากนั้น ความเข้าใจด้านการพัฒนาเด็กโดยเฉพาะเด็กก่อนวัยเรียน ก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างมีคนสนใจน้อยอยู่แล้ว ยิ่งสังคมปัจจุบันพ่อแม่เด็กส่วนใหญ่ต้องเข้ามาหางานทำในเมืองใหญ่ปล่อยให้ภาระการเลี้ยงดูเด็กเล็กเป็นเรื่องของปู่ย่าตายาย  การเลี้ยงดูก็ตามความเข้าใจของคนรุ่นก่อน ทั้งสังคมปัจจุบันมีสื่อที่ชักนำเด็กให้เสียสมาธิกับการเรียนรู้มากมายหลากรูปแบบ

การพัฒนาเด็กเล็กจึงเป็นเรื่องท้าทายโดยเฉพาะหน่วยงานส่วนท้องถิ่นที่ต้องรับผิดชอบด้านการศึกษาในส่วนของเด็กก่อนวัยเรียน  แต่สิ่งที่เทศบาลเมืองแก อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ร่วมกับสมาคมไทสร้างสรรค์ กำลังเปลี่ยนแลงด้วยเทคนิควิธีการที่แสนจะธรรมดาแต่เต็มไปด้วยประสิทธิภาพ ด้วยการอาศัยเพียงหนังสือภาพกับการพัฒนาเด็กเยาวชนมาเป็นนักอ่านหนังสือให้กับน้องๆ ก่อนวัยเรียนฟัง ได้ทำให้ชุมชนนี้กำลังจะเป็นชุมชนที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในการพัฒนารากฐานทางการศึกษาให้กับสังคม  วิธีที่แสนจะธรรมดา เด็กเยาวชนหนึ่งคน กับหนังสือ 4-5 เล่ม เดินไปตามบ้านที่มีเด็กเล็กก่อนวัยเรียน และอ่านหนังสือให้น้องฟังทุกวัน  สะสมวันละเล่ม 4-5 เล่ม นานวันเข้าเด็กเล็กๆ เหล่านี้ได้ทั้งภาษาและคำพูดที่พี่ๆ อ่านหนังสือให้ฟังทุกวันซ้ำแล้วซ้ำเล่า เรื่องแล้วเรื่องเล่า จนกระทั่งเด็กเหล่านี้เริ่มที่ชินกับคำพูดและภาษาจากหนังสือที่สื่อไปยังพวกเขา ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ต้องพิสูจน์อะไรมาก หากเด็กได้ฟังนิทานหรือเรื่องเล่าบ่อยๆ ก็ย่อมส่งผลต่อพัฒนาการด้านสมอง ภาษาและสมาธิที่ถูกกระตุ้นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งมากเท่าไรยิ่งสร้างสรรค์ประสบการณ์การเรียนรู้ของเด็กเล็กได้มากเท่านั้น

สิ่งสำคัญวิธีการพัฒนาการศึกษาด้วยเทคนิคง่าย ๆ เช่นนี้ไม่เพียงแต่สร้างความเปลี่ยนแปลงด้านพัฒนาการทางภาษา สมองและพัฒนาการด้านการออกเสียงภาษาไทยแก่เด็กเล็กเท่านั้น  แต่วิธีเดียวกันนี้ยังส่งผลต่อเด็กเยาวชนนักอ่านให้เป็นคนที่รับผิดชอบในการทำงาน การไปอ่านหนังสือซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้น้องฟังทุกวัน เยาวชนนักอ่านเองก็ได้ฝึกทักษะด้านการอ่านออกเสียให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ได้เรียนรู้ชุมชนสังคมที่ตนเองอาศัยอยู่ ได้เดินเข้าออกบ้านนั้นสู่บ้านนี้ ทำให้เขามีบทบาทที่สำคัญต่อชุมชน คนในชุมชนต่างยกย่องกลายเป็นการส่งเสริมความมั่นใจให้กับนักอ่าน

นอกจากนี้การใช้หนังสือภาพและสร้างเยาวชนนักอ่านจึงเป็นการเชื่อมโยงให้คนหลากหลายวัยมาได้มาพบกัน เชื่อมโยงระหว่างกลุ่มเด็กเยาวชนกับกลุ่มเด็กปฐมวัย เด็กกลุ่มนี้จะรู้จักชื่อน้องที่ตัวเองไปอ่านหนังสือให้ฟังทุกวัน น้องก่อนวัยเรียนได้รู้จักกับพี่ที่ไปอ่านหนังสือให้ฟังทุกคน น้องเล็กๆ ต่างเฝ้ารอให้พี่อ่านหนังสือฟัง  กลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองเห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็กเล็กด้วยหนังสือ และเชื่อมโยงทัศนคติของผู้ใหญ่ที่มีต่อเยาวชนนักอ่าน  รู้จักเด็กเยาวชน  เด็กบางคนไปอ่านหนังสือพ่อแม่ผู้ปกครองจะตอบแทนด้วยของติดไม้ติดมือกลับบ้านประจำ  และสร้างทัศนคติต่อผู้ใหญ่มองเด็กเยาวชนนักอ่านในฐานะคนสำคัญของชุมชน บางชุมชนให้คำว่า “ครูน้อย” ถือเป็นการให้การยกย่งแก่เด็กที่มาอ่านหนังสือให้ลูกหลานฟัง

ไม่เพียงแต่การพัฒนาเด็กด้วยหนังสือจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อตัวเด็กและเยาวชนเท่านั้น สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งได้สร้างความเปลี่ยนแปลงและมุมมองด้านการศึกษาเด็กเล็กของคนในชุมชนเปลี่ยนไปด้วย พลังการอ่านที่ทำให้เด็กเล็ก ได้ออกเสียงตามเรื่องเล่าในหนังสือสร้างความตื่นเต้นให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองที่เห็นลูกหลานตัวเล็กออกเสียงและเล่าเรื่องราวตามหนังสือภาพที่พี่ๆ อ่านให้ฟังได้อย่างคล่องแคล่ว พ่อแม่ผู้ปกครองก็เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านการเลี้ยงดูเช่นเดียวกัน ผู้ปกครองก็นำเรื่องราวในหนังสือมาเป็นเครื่องมือในการดูแลเด็กเล็ก และให้เด็กได้เล่นตามตัวละครในหนังสือ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สามารถนำมาทดแทนการปล่อยให้เด็กดูโทรทัศน์หรือเล่นอุปกรณ์สื่อสารอย่างอื่น

บางทีเทคนิควิธีการง่ายๆด้วยการนำหนังสือภาพ โดยให้เด็กเยาวชนนำไปอ่านหนังสือให้เด็กเล็กๆ ฟัง ไม่เพียงแต่สร้างความสนใจให้กับชุมชนเท่านั้น แต่ยังอาจจะเป็นคำตอบให้กับการศึกษาที่พยายามส่งเสริมให้เด็กรักการอ่านที่สังคมไทยได้ลงทุนไปมากมายทั้งวัสดุอุปกรณ์ ตัวอาคารสถานที่และเครื่องไม้เครื่องมือ แต่กลับล้มเหลวในหลายพื้นที่

สังคมแห่งการอ่านและการสร้างรากฐานที่มั่นคงการศึกษาอาจจะไม่ใช่เรื่องของงบประมาณที่มากมายอีกต่อไปอย่างตัวอย่างที่ เทศบาลตำบลเมืองแก อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ และสมาคมไทสร้างสรรค์กำลังทำงานให้เห็นเป็นรูปธรรม  มีเพียงหนังสือภาพกับการช่วยเหลือเด็กเยาวชนให้เขามีความมั่นใจและเสริมสร้างเทคนิคง่ายๆให้กับเด็กเหล่านี้ได้มีความสนุกสนานกับการเป็นผู้อ่านหนังสือให้น้องฟัง อาจจะเป็นคำตอบที่ผู้ใหญ่กำลังค้นหาอยู่ว่าจะวางรากฐานด้านการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชนได้อย่างไร เพียงมีคนอ่านหนังสือให้เด็กฟังอย่างสม่ำเสมอ การอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า ได้ฟังบ่อยๆ เรียนรู้บ่อยๆ ทุกอย่างค่อยๆ เก็บสั่งสมไปเรื่อยๆ เด็กเหล่านี้ยิ่งสั่งสมมากเท่าไรทุนด้านการเรียนรู้ด้านภาษา สมาธิและความใฝ่เรียนรู้ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

บทความ ดร.จำเนียร ผะคุงคิว