ความจริงเรื่องทักษะการอ่านของเด็กๆ

จากการดำเนินงานโครงการสร้างนักอ่านในหลายพื้นที่ สมาคมไทสร้างสรรค์พบว่า ทักษะการอ่านของเด็กและเยาวชนเป็นปัญหาสำคัญที่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นตามระยะเวลา โดยมีระดับรุนแรงมากที่สุดในพื้นที่ภาคอีสานตอนเหนือ ตามด้วยภาคอีสานใต้และภาคเหนือตามลำดับ โดยพบว่านักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 และมัธยมศึกษาปีที่ 1-2 ที่เข้ารับการทดสอบทักษะการอ่านเพื่อกลั่นกรองเข้าทำหน้าที่เยาวชนนักอ่านในบางสถานศึกษาร้อยละ 100 ไม่สามารถอ่านหนังสือภาพสำหรับเด็กปฐมวัยได้ (พบอย่างน้อย 2 โรงเรียนจาก 4 โรง)ส่วนภาคอีสานตอนไต้มีเพียงร้อยละ 17 ที่ผ่านเกณฑ์ สามารถทำงานอ่านหนังสือให้เด็กปฐมวัยฟังได้ขณะที่ร้อยละ 83 อ่านไม่ได้หรืออ่านไม่ถึงระดับใช้งานได้-อ่านไปหยุดสะกดคำไปเรื่อยๆ) ภาคเหนือพบประมาณร้อยละ 50

นอกจากนั้น ยังพบอยู่เสมอว่า ผู้ที่มีทักษะการอ่านในเกณฑ์ดี และทำหน้าที่อ่านหนังสือให้น้องฟังได้นั้น ล้วนเป็นนักเรียนที่มีผลการเรียนระดับดีเยี่ยมของโรงเรียน สอบได้อันดับที่ 1-5 ของโรงเรียน เป็นนักเรียนที่มีผลงานดีเด่น หรือเป็นบุคคลหลักที่โรงเรียนส่งเข้าแข่งขันทักษะและวิชาการอยู่เสมอ

กิจกรรมโครงการในหลายชุมชนต้องยุติลงเมื่อเยาวชนนักอ่านรุ่นที่ 1 ไม่สามารถทำหน้าที่ต่อไปได้ เนื่องจากคนอื่นๆในชุมชนมีทักษะไม่พอที่จะอ่านให้น้องฟังได้ หรือหากจะอ่านได้ ก็อ่านได้เพียงหนังสือระดับเริ่มต้นที่มีตัวหนังสือ 1 – 2 ประโยคต่อหน้าเท่านั้น (อาทิ น้องหมีสวัสดีครับ ลูกเจี๊ยบ 5 ตัว เป็นต้น)

ซึ่งย้อนแย้งกับพัฒนาการของน้องที่มีอัตราการฟังสะสมมากๆ มีระดับความเข้าใจเรื่องราวที่ซับซ้อนขึ้น พัฒนาความสนใจในหนังสือมากขึ้น มีสมาธิยาวขึ้น จนสามารถฟังหนังสือขนาดความยาว 10-15 นาทีหรือยาวกว่าได้แล้ว สนใจหนังสือที่มีเนื้อเรื่องยาวขึ้น ตัวอักษรเล็กลง มีคำศัพท์มากขึ้น ซึ่งเยาวชนนักอ่านเกือบทั้งหมด(แม้จะเป็นนักเรียนระดับต้นๆของโรงเรียน)ก็เริ่มมีปัญหาการอ่าน ไม่อาจอ่านอย่างสนุกสนานได้ กิจกรรมการอ่านจึงต้องยุติลง

ข้อสังเกตหนึ่งจากการฝึกสอนนักอ่าน พบว่าหากนักอ่านได้รับการฝึกฝนการอ่านจากโรงเรียนมามากพอ ก็จะฝึกอ่านให้น้องฟังได้อย่างรวดเร็ว แต่ส่วนใหญ่ได้รับการฝึกฝนการอ่านมาน้อย จนไม่อาจเรียกได้ว่าอ่านได้คล่อง

และหากนำระดับทักษะของเด็กๆเหล่านี้ไปเปรียบเทียบกับอดีตสมาชิกห้องสมุดเด็กและครอบครัวที่สมาคมฯทำงานด้วย ก็จะยิ่งพบความแตกต่าง ด้วยด็กๆเหล่านั้นอ่านวรรณกรรมเยาวชนขนาด 200 หน้าได้ด้วยตนเองตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทั้งยังอ่านเองเดือนละ 5-8 เล่มอย่างต่อเนื่อง

การอ่านวรรณกรรมได้ด้วยตนเองและสนใจที่จะอ่านเองตั้งแต่ชั้นประถมฯต้น จึงเป็นมาตรวัดสำหรับคนทำงานด้านการอ่านกับเด็กที่สมาคมฯ เพราะหากทำได้ พาพวกเขาไปถึงได้ก็ไม่ต้องห่วงอะไรมากนักกับการเรียนในระบบ แต่นักเรียนจำนวนมหาศาลในวัยนี้หรืออายุมากกว่าหลายๆปี ยังอยู่ต้องอ่านสะกดคำ ทีละคำ ดังนั้นคำถามใหญ่คือ ระบบโรงเรียนซึ่งดูแลเด็กๆหลายล้านคนจะพาพวกเขาไปได้ถึงตรงไหน