สร้างนักอ่านในหมู่บ้านที่ขาดความช่วยเหลือ

บ้านพิงพวย-โนนดู่ นั้น ชื่อทางการมีเพียงชื่อเดียว คือ “พิงพวย” ส่วนบ้านโนนดู่เป็นหย่อมบ้านของพิงพวย
ที่แยกออกไปกลางทุ่ง ห่างเกือบหนึ่งกิโลเมตรแบบที่คนท้องถิ่นอีสานเรียกว่า “บ้านน้อย” (ทางเหนือเรียกว่า “ป๊อกบ้าน”) แต่บ้านน้อยของพิงพวยมีชื่อเรียกเป็นของตนเองว่าโนนดู่ เลยเป็นชื่อที่เราเรียกคู่กันเสมอมา

ทั้งสองบ้านตั้งห่างจากตำบลเมืองแกเพียงนิดเดียว เด็กๆจำนวนไม่น้อยจึงเดินทางข้ามตำบลไปเข้าโรงเรียนที่เมืองแก ซึ่งคณะทำงานได้พบเห็นพวกเขาบ่อยๆ จนเกิดเห็นคำถามว่า ทำไมเราจึงช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ไม่ได้ เพียงเพราะพวกเขาอยู่นอกพื้นที่โครงการเท่านั้นหรือ? คณะทำงานจึงตัดสินใจไปคุยกับผู้ใหญ่บ้าน ผู้ซึ่งเป็นคุณตาที่น่ารักของเด็กๆ ท่านสนิทสนมกับเด็กๆทุกคน ใจดีกับเด็กๆทุกคนและทุกรุ่น

คณะทำงานไปเล่าเรื่องโครงการ ขอข้อมูลเด็กๆและพี่ๆที่สามารถอ่านหนังสือให้น้องๆฟังได้

แล้วผู้ใหญ่บ้านก็ประกาศเชิญชวนเด็กๆไปสมัครเป็นนักอ่าน พร้อมกับชี้แจงงานได้แม่นยำหลังจากคุยกันครั้งเดียว

พี่ๆไปสมัครกันเกือบสิบคน เข้ากระบวนการคัดเลือกตามขั้นตอน ทั้งทดสอบทักษะการอ่าน และสัมภาษณ์ความสนใจและพูดคุยแลกเปลี่ยนตั้งแต่บ่ายจนมืดค่ำในเดือนธันวาคม ที่สุดก็ได้พี่สองคนที่พร้อมจะทำงาน อยากทำงาน แต่พูดน้อยและดูนิ่งๆใจดี

มิ้น (บ้านพิงพวย) และ มด (บ้านโนนดู่)​ เป็นเพื่อนสนิทที่เรียนชั้น ป.๖ ด้วยกันในขณะนั้น รับอาสาทำงาน อ่านหนังสือให้น้องฟังรวมกัน ๑๕  คน แล้วกระบวนการก็เริ่มขี้น ทั้งสองเริ่มอ่านหนังสือให้น้องฟังโดยการนำพาของพี่ๆในโครงการ อย่างไรก็ตาม ความกังวลใจที่คณะทำงานพูดคุยกันเสมอคือ โครงการอาจยืมจากตำบลเมืองแกได้ เพื่อให้พี่ทั้งสองใช้อ่านให้น้องฟัง แต่จะหาหนังสือจากที่ไหนให้เด็กๆแต่ละคน แต่พวกเราก็หยุดคิดเอาไว้แค่นั้นเพราะคิดว่ายังไม่ถึงเวลา

กระทั่งรู้ตัวอีกครั้ง วันนี้เวลาก็ผ่านไป ๘ เดือนแล้ว และตัวเลขจำนวนการฟังสะสมของเด็กๆ ๑๑ คน (จากทั้งหมด ๑๕ คน) ก็ทะลุ ๕๐๐ เล่มไปแล้ว นอกจากนั้นยังมีถึง ๒ คนที่ยอดสะสมเกิน ๘๐๐ เล่มแล้ว เป็นตัวเลขที่ไม่ใช่นักอ่านทุกคนจะทำได้ (และแทบจะไม่เคยมีใครทำได้) ส่วนตัวเลขในภาพรวมของหมู่บ้านก็แซงหน้าหมู่บ้านอื่นๆที่เริ่มงานมาก่อนกว่าครึ่งปีไปแล้วด้วยซ้ำ

คณะทำงาน จึงต้องรีบขวนขวายระดมหนังสือไปช่วยพวกเขา ไปช่วยเด็กๆทั้ง ๑๕ คนนั้น เพราะพี่นักอ่านทั้ง ๒ คนกับน้องๆ เดินไปข้างหน้าด้วยกันอย่างมั่นคง และพวกเขาก็แข็งแรงขึ้นทุกวัน พวกเขาต้องการหนังสือใหม่ๆ ที่ก้าวหน้ามากขึ้นกว่าเล่มที่อ่านกันซ้ำๆจนช้ำหมดแล้ว

ท่านที่ประสงค์อยากหาหนังสือช่วยเหลือเด็กๆ ๑๕ คนเหล่านั้น โปรดติดต่อโครงการ ที่ 093-534-3424 email : project21@taiwisdom.org   

หมายเหตุ : เด็กๆแต่ละคนต้องการหนังสือคนละ ๕ เล่ม ราคาเฉลี่ยเล่มละ ๑๕๐ และโครงการฯเลือกใช้หนังสือที่ผ่านการคัดกรองโดยทีมงานแล้วเท่านั้น (โปรดติดต่อคณะทำงานก่อนบริจาคหนังสือ)

Previous Article
Next Article