พ่อแม่ : แค่อ่านให้ลูกฟัง

ผู้เขียน ทำงานเรื่องการอ่านกับเด็กมาเกือบๆยี่สิบแล้ว ได้เห็นว่าเด็กๆของเรานับวันจะอ่านหนังสือลดน้อยลงจริงๆ อย่างที่เขาว่า เพราะสื่ออิเลคโทรนิคส์ เข้ามาในชีวิตประจำวันมากจริงๆ เดี๋ยวนี้เดินไปที่ไหนๆ ก็เห็นผู้ใหญ่และเด็กๆ ถือ “มือถือ” ก้มหน้าก้มตากดไม่พูดไม่จากับใคร แต่ที่น่าเป็นห่วงกว่านั้น คือเด็กเล็กก็เป็นไปกับเขาด้วย พ่อแม่เอาให้เล่นด้วย เลยต่างคนต่างมีโลกของตัวเอง พ่อแม่กับเด็กๆสัมพันธ์กันน้อยลง และหลายคนไม่ทันได้คิดว่า การให้เด็กๆเล่นมือถือนั้น อันตรายมากกว่าที่เราคิด ซึ่งจะค่อยๆเล่าให้ฟัง

มาว่ากันเรื่องการอ่านก่อนว่า เด็กๆอ่านหนังสือกันน้อยลงเพราะมือถือ ทีวี เกมส์ หรืออะไรกันแน่ เพราะหลายคนไม่แน่ใจ และหลายคนก็เชื่อว่าที่เล่นมือถือน่ะ เขาก็อ่านอยู่นะไม่ใช่ไม่อ่าน อันนี้ไม่เถียงแต่ค่อยๆคุยกันทีละข้อดีกว่า

ข้อแรกคือ จำเป็นหรือเปล่าที่เราจะต้องอ่าน ข้อนี้คุณผู้อ่านก็คงเห็นด้วยว่าต้องอ่านและอ่านเยอะๆ เพราะการสั่งสมความคิดและความรู้ไว้ในตัวด้วยการอ่านนั้น สุดท้ายมันกลายเป็นต้นทุนของตัวเองที่ไม่สร้างก็ไม่มีขึ้นมาได้ และการเกิดขึ้นของอุปกรณ์สมัยใหม่นั้น จริงๆแล่วไม่ได้ช่วยเท่าไหร่ ทั้งเริ่มมีหลักฐานจากการวิจัยใหม่ๆเข้ามาเรื่อยๆว่า การอ่านบนหน้าจอนั้น ได้ข้อมูลแค่ผิวเผิน ซึ่งไม่ค่อยได้ประโยชน์ในระยะยาว เพราะข้อมูลไม่แน่น และที่สำคัญเวลาผ่านไปนิดเดียวก็ลืมแล้ว จำได้ไม่นาน ผลสรุปของงานวิจัยที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆบอกว่า ถ้าต้องการความรู้จริงๆ อ่านหนังสือได้ผลดีกว่ามาก แต่ทีนี้จะทำยังไงให้เด็กๆอ่านหนังสือล่ะ

ผู้เขียนทำงานกับเด็กๆและพ่อแม่มาพอสมควร และได้เห็นว่าถ้าอยากให้เด็กชอบอ่านหนังสือ ก็ต้องทำให้เด็กๆเห็นว่าการอ่านเป็นเรื่องสนุกเหมือนการเล่นหลายๆอย่างที่พวกเขาชอบ หต้องดูน่าเอร็ดอร่อยเหมือนขนม แต่มีข้อแม้ว่าต้องทำตั้งแต่เล็กๆ ตั้งแต่แบเบาะเลยก็ได้ บางครอบครัวจริงจังถึงขนาดเริ่มตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์เลย ส่วนวิธีการมีอย่างเดียว (อ่านไม่ผิด : อย่างเดียว) ไม่มีอะไรยุ่งยากซับซ้อน แค่ “อ่านหนังสือให้ฟัง” ส่วนหนังสือนั้น ก็ช้หนังสือนิทานภาพ เอาพวกตัวหนังสือน้อยๆ ภาพเยอะๆหน่อย หรือเลือกเอาพวกหนึ่งหน้าหนึ่งบรรทัด ไม่ต้องกลัวไม่คุ้มตังค์ ไปเลือกเอาพวกเนื้อหาเยอะๆ จะไม่ค่อยได้ผล รอโตขึ้นเรื่อยๆ ก็ค่อยเพิ่มค่อยขยายเนื้อหาก็ได้ (ถ้านึกไม่ออกก็ไปดูตามลิงค์นี้  http://taiwisdom.org/bkfch/scrnbk สมาคมไทสร้างสรรค์ คัดเลือกหนังสือที่ใช้แล้วเกิดผลดีกับเด็กไว้หลายรายการ  ราคาอาจจะดูแพงหน่อยแต่คุ้มค่ามาก อย่างไรก็ตาม หลายเล่มอาจไม่มีขายแล้วเพราะเขาเลิกพิมพ์ แต่พอดูแล้วเข้าใจแนวหนังสือแล้ว ก็เลือกซื้อตามแนวนี้ได้)​

พ่อแม่ บางคนถามว่า “แค่อ่านให้ฟังหรือ” ใช่ครับ แค่นั้นจริงๆ อันนี้ยืนยันได้อีกหลายๆครั้ง เพราะเวลาอ่านให้ฟังเขาจะได้ยินเสียงพ่อแม่ และเห็นภาพที่อยู่บนหน้าหนังสือ เรื่องราว ภาษา และอีกหลายอย่างจะตามมา เกิดเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเสียงของพ่อแม่และหนังสือที่อยู่ตรงหน้า และที่แน่นอนที่สุดคือ เขาจะเห็นว่าหนังสือเป็นของสนุก ได้แค่นี้ก็เกินพอแล้ว

ต่อคำถามที่ว่า อ่านให้ฟังตอนเล็ก แต่พอโตขึ้นแล้วจะอ่านหนังสือหรือไม่ อันนี้หมดกังวลได้ เพราะติดหนังสือตั้งแต่เล็กนี่ ติดแล้วเลิกไม่ได้ ติดแล้วฝังอยู่ในตัวตลอดไป และถ้าอ่านให้ฟังไปเรื่อยๆ พ่อแม่จะเห็นพัฒนาการอันน่าทึ่งที่ของลูก โดยเฉพาะภาษาและคำพูด ซึ่งเป็นข้อที่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคนซัส ใช้เวลาตามเก็บข้อมูลเด็กสี่สิบแปดครอบครัว อยู่นาน ๔ ปี จนค้นพบว่าเด็กจะเรียนเก่งมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับ “คลังคำ” ที่ได้มาตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียน คนที่พกมามากกว่าก็จะเรียนเก่งกว่า เรียนง่ายกว่า เพราะเมื่อมีคลังคำในหัวมาก ก็เข้าใจอะไรๆที่ครูสอนได้มาก ครูอธิบายอะไรก็เข้าใจ ส่วนคนที่พ่อแม่ไม่ได้ช่วยเตรียม ไม่ได้อ่านหนังสือให้ฟัง ไปหาเอาดาบหน้าก็จะเจอความทุกข์ยากตั้งแต่วันแรกที่เข้าโรงเรียน เพราะเข้าใจอะไรๆได้น้อย เริ่มต้นก็แตกต่างกันแล้ว แล้วกลุ่มที่พ่อแม่อ่านหนังสือให้ฟัง ก็จะอ่านหนังสือออกรวดเร็วจนหลายคนตกใจ ครูสอนนิดเดียวก็อ่านออกได้ เรียกว่าพร้อมเต็มที่กับการเข้าชั้นเรียน

เรื่องการอ่านในระยะยาวนั้น จึงไม่ต้องกังวลอีกเลย เพราะเมื่ออ่านหนังสือออกได้รวดเร็ว ก็จะเริ่มอ่านเอง เริ่มขวนขวายขอพ่อแม่พาไปร้านหนังสือ แต่คนเป็นพ่อแม่ก็อย่าเพิ่งชะล่าใจ ต้องตามติดไปเรื่อยๆ ช่วยเหลือหาวรรณกรรมดีๆให้เขาอ่าน ถ้าไม่รู้จักไม่คุ้นกับหนังสือพวกนี้ก็ไม่ต้องกังวล ถามกูเกิ้ล หาคำว่า “วรรณกรรมเยาวชน” ก็เจอมากมาย หรือเข้าดูในหน้าเว็บขององค์กรที่ทำงานเรื่องนี้ รวมทั้งที่ สมาคมไทสร้างสรรค์​ (http://taiwisdom.org) ส่วนตัวพ่อแม่ก็ควรจะอ่านหนังสือเองด้วย อ่านให้ลูกเห็น ให้บรรยากาศความสนใจในบ้านเป็นเรื่องการอ่าน ทีนี้ลูกก็ไม่ไปไหนแล้ว ซึ่งมีข้อดีหลายอย่างมากนอกจากความรู้ ความคิดและรสนิยมที่พวกเขาจะได้แล้ว เด็กๆที่ติดหนังสือทุกคน จะไม่ติดโทรทัศน์ ไม่ติดเกมส์ ไม่ติดสื่อ ทั้งยังจะคิดได้เองด้วยว่าสื่อแบบไหนดีมาก อันไหนดีน้อย

กลับไปเรื่องเด็กไทยไม่อ่านหนังสืออีกที เพราะเราคงจะมีพ่อแม่ทำแบบที่เล่ามาจำนวนน้อย เด็กไทยจึงถูกต่อว่าบ่อยๆว่าไม่อ่าน สาระไม่เอา ฯลฯ ก็ต้องย้อนว่าน่าจะเป็นเพราะพ่อแม่ไม่อ่าน ลูกก็เลยไม่อ่าน อันนี้ก็ถูกครับแต่ถูกไม่หมด เพราะข้อที่สองคือ โรงเรียนเข้าใจผิดเรื่องการส่งเสริมการอ่าน ทั้งประเทศ ผลจึงออกมาแบบนี้ และถ้าผู้อ่านย้อนกลับไปอ่านย่อหน้าข้างบน จะพบว่าผู้เขียนไม่ได้เขียนแม้แต่คำเดียวว่า “สอนอ่าน” เลย เขียนแต่คำว่า “อ่านให้ฟัง” เห็นไหมครับว่าแตกต่างกันมาก แต่ครูส่วนใหญ่เห็นว่าต้องสอน เห็นว่าการอ่านเป็นเรื่องที่ต้องเริ่มต้นที่ตัวเด็กเอง จึงมอบหมายให้เด็กอ่าน ทำบันบันทึกการอ่าน แทนการทำให้การอ่านเป็นเรื่องง่ายๆ สนุกและสบายโดยอ่านให้ฟังเยอะๆ ปลูกฝังทัศนให้เด็กเห็นว่าหนังสือคือความสุข การอ่านคือความสุข  แต่การอ่านที่โรงเรียนกลับทำให้เด็กเห็นการอ่านเป็นงานไปเสียทั้งนั้นเด็กเลยเลิกชอบหนังสือ เลิกอยากอ่าน พูดเรื่องนี้แล้วเหนื่อยจริงๆ(ขำไม่ออก)​

ทีนี้เราน่าจะเห็นภาพตรงกันแล้วว่า ทำไมเด็กไทยจึงต้องโดนเหน็บบ่อยๆว่า อ่านหนังสือปีละแปดบรรทัด(ซึ่งไร้ที่มาที่ไป) แล้วจะไปรู้อะไร ผู้เขียนจึงเป็นอีกคนหนึ่งที่พยายามอย่างมากที่จะหาวิธีการพิสูจน์ให้ใครต่อใครเห็นว่า อย่าได้โทษเด็กๆเลย เพราะพวกเราผู้ใหญ่นี่แหละที่เป็นต้นเหตุ ที่ทำให้เด็กไม่อ่าน โดยทำโครงการอ่านหนังสือให้เด็กๆฟัง ในชื่อ โครงการสร้างนักอ่าน ให้เบี้ยเลี้ยงพี่ๆ ป.๕-๖ ม.๑-๒ วันละ ๓๐-๔๐ บาท ไปอ่านหนังสือให้น้องเล็กๆฟังตามบ้านทุกวันๆละ ๔-๕ คน ตั้งเป้าอ่านให้ฟังคนละ ๑,๐๐๐ เล่ม โดยเลือกหนังสือดีมาอ่านให้ฟังซ้ำๆ ไปจนครบตามเป้าและชวนพ่อแม่ช่วยอ่านด้วย ส่วนที่หลายคนพูดว่าพ่อแม่ไม่ช่วยเลยนั้น ต้องไม่โทษพ่อแม่  เพราะในชนบทส่วนใหญ่มีรายได้น้อย ต้องหาเช้ากินค่ำ ถ้าเป็นเรื่องการศึกษาก็หวังพึ่งโรงเรียนกันทั้งนั้น มิหนำผู้ใหญ่ในหลายๆบ้านก็อ่านหนังสือไม่ออก หรือไม่ก็อยู่กับตายายซึ่งลืมหนังสือไปนานแล้ว โครงการฯจึงต้องเดินหน้าทำงานกับเยาวชนโดยตรง จนถึงขณะนี้ มีเด็กเล็ก (๑-๕ ขวบ)ในโครงการ มากกว่า ๗๕๐ คนแล้ว ในพื้นที่ ๓๘ หมู่บ้าน ทั้งที่ลำปาง พะเยา ขอนแก่น หนองบัวลำภู กาฬสินธุ์ และสุรินทร์ มีทั้งเด็กชาวเขา ๓-๔ เผ่า เด็กเชื้อสายเขมร และเชื้อสายลาว  ซึ่งผลที่เกิดกับเด็กๆไม่แตกต่างกัน ทุกคนชอบหนังสือ สนใจหนังสือ มีสมาธิในการฟัง จดจำคำศัพท์และเรื่องราวจากหนังสือได้มากมาย ฯลฯซึ่งยืนยันความเชื่อของผู้เขียนที่ว่า ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะมีชาติกำเนิดแบบใด หรือเกิดที่ไหนในโลก เด็กทุกคนล้วนเป็นเด็ก มีพื้นฐานเหมือน มีความสนใจเหมือนกัน และถูกหล่อหลอมให้ไปทางใดก็ได้เหมือนกัน เด็กๆทุกคนจึงติดขนมหวานได้ ติดทีวีได้ ติดเกมส์ได้ ฯลฯ และก็ติดหนังสือได้เช่นกัน แต่พอติดหนังสือแล้วนี่ มีความสุข มีความหวัง มีอนาคต 

สุดท้าย มันจึงขึ้นอยู่กับเราๆทั้งหลายที่เป็นผู้ใหญ่ ว่าจะเลือกให้ลูกหลานเติบโตไปในทางใด

บทความ : ธีรวงศ์ ธนิษฐเวธน์ เลขาธิการ สมาคมไทสร้างสรรค์