หนังสือคือความสุข การอ่านคือความสุข

คำพูดติดปากของผู้ใหญ่จำนวนมากในบ้านเรา เมื่อตั้งวงประชุมพูดคุยแลกเปลี่ยนว่าด้วยการส่งเสริมการอ่านหรือการผลิตสิ่งพิมพ์ ไม่ว่าวงเล็กหรือวงใหญ่ เกือบทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เด็กไทยไม่อ่านหนังสือ” หากเราผู้ใหญ่มีทัศคติเช่นนี้เสียแล้ว เด็กไทยก็คงจะไม่อ่านหนังสืออยู่ร่ำไป

ณ เทศบาลตำบลเล็กๆ แห่งหนึ่ง ผู้บริหารกลับเชื่อในทางตรงกันข้าม พวกเขาเชื่อว่า “เด็กๆจะอ่านหนังสือถ้ารู้ว่าหนังสือสนุก” โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ ที่ยังไม่เสพติดสื่อใดๆ ยิ่งเป็นโอกาสอันงดงามในการหยิบยื่นความสนุกจากหนังสือและการอ่านส่งให้พวกเขา

โครงการนำหนังสือสู่มือน้อง จึงเกิดขึ้นเมื่อมีองค์กรทำงานด้านการอ่านอย่าง สมาคมไทสร้างสรรค์ ชักชวนให้เทศบาลตำบลเมืองแก อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ร่วมมือกันทำงานเรื่องการอ่านอย่างเข้มข้น ด้วย ‘การอ่านให้ฟัง’ ในกิจกรรมการอ่านให้ฟังนี้ ประกอบด้วย พี่นักอ่าน และ น้องผู้ฟัง แต่หัวใจของทั้งหมดอยู่ที่กระบวนการ ที่มีองค์ประกอบที่มีความสำคัญหลายอย่าง ทั้งการคัดเลือกหนังสือเพื่อให้ใช้ได้อย่างเหมาะสมกับวัยของเด็กผู้ฟัง การคัดสรรเยาวชนมาทำหน้าที่ “นักอ่าน” การเป็นฝ่ายเดินไปหาผู้ฟังถึงบ้าน การสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ปกครองนักอ่านและผู้ฟัง รวมถึงการฝึกฝนให้นักอ่านสามารถทำหน้าที่ “อ่านให้ฟัง” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มพูนทักษะการอ่านหนังสือให้แตกฉาน ตลอดจนถึงการฝึกฝนวิธีการทำงาน ทั้งการจดบันทึกการอ่านให้น้องฟัง สังเกตความสนใจของน้องผู้ฟัง ฯลฯ และที่สำคัญที่สุด ทั้งนักอ่านและผู้ฟังจะต้องรู้สึกสนุกและมีความสุขในขณะทำกิจกรรมนี้ร่วมกัน

“พี่นักอ่าน” คือนักเรียนชั้นประถมศึกษาปี่ที่ 5-6 และมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 2 น้องผู้ฟังเป็นเด็กอายุ 1-4 ขวบ พี่นักอ่านหนึ่งคนมีน้องผู้ฟังของตัวเอง 8-10 คน ทุกๆ เย็น พี่นักอ่านจะเดินเท้าหรือปั่นจักรยานไปหาน้องผู้ฟังถึงบ้านพร้อมด้วยถุงหนังสือ แล้วเริ่มต้นอ่านหนังสือนิทานให้น้องฟังครั้งละ 4-5 เล่ม แล้วบันทึกรายการหนังสือที่อ่าน ส่งให้ผู้ปกครองของน้องลงนามรับทราบ แล้วพี่ก็เดินทางไปหาน้องคนต่อไป วันหนึ่งๆ พี่จะไปหาน้องและอ่านหนังสือให้ฟัง 4-5 คน หากมีน้องที่ตนรับผิดชอบ 8-10 คน ก็เท่ากับว่าน้องๆ จะได้ฟังนิทานจากพี่วันเว้นวันกันทุกคน และเมื่อน้องผู้ฟังมีพัฒนาการทางภาษาและสังคมที่ก้าวหน้า กล่าวคือ ระยะเวลาดำเนินกิจกรรมผ่านไปหนึ่งเดือน และพบว่าน้องมีสมาธิขึ้น นิ่งและสามารถจดจ่อ อดทน รอคอยได้ มีความสนใจหนังสือ รักและติดหนังสือนิทานแล้ว ก็ถึงวันที่ผู้ปกครองรอคอย สำนักงานเทศบาลตำบลเมืองแก ได้จัดวันมอบหนังสือเล่มที่ 1 ให้น้องทุกคน และแต่ละคนได้รับหนังสือที่ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับความสนใจและความก้าวหน้าในการฟังของน้องแต่ละคน ซึ่งนักอ่านและคณะทำงานจะเป็นผู้สังเกตปฏิกริยาในขณะที่น้องฟังทุกๆ วันจึงจะทราบได้ และเมื่อเวลาผ่านไปนานวัน น้องก็จะได้รับหนังสือเล่มที่ 2 3 4 และ 5 ต่อไป

การมอบหนังสือให้น้อง จึงเป็นการมอบให้ตามพัฒนาการและความสนใจรายบุคคล ซึ่งเป็นสิ่งที่ข้ามผ่านไปไม่ได้ เพราะหากต้องการทำให้เด็กๆเห็นหนังสือกลายเป็นหวาน ก็จะต้องทำงานมากกว่านำหนังสือไปแจกให้เด็กทุกคนแล้วหวังว่าทุกอย่างจะเกิดขึ้นเอง ซึ่งไม่เคยเป็นจริง

ถึงวันนี้ ไม่ต้องถามแล้วว่าน้องผู้ฟังมีความก้าวหน้าอย่างไรบ้าง ครูพี่เลี้ยงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจากทั้ง 4 ศูนย์ในการกำกับดูแลของเทศบาลเมืองแก กล่าวตรงกันว่า เด็กๆมีสมาธิ เข้าใจคำสั่ง สามารถร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ได้ต่อเนื่อง และทุกคนชอบหนังสือ แต่ที่สำคัญและได้เพิ่มขึ้นมาอย่างคาดไม่ถึงคือ พี่นักอ่าน หลายคนบอกว่าภูมิใจในตัวเอง ขณะที่หลายคนบอกว่ารู้สึกมีความรับผิดชอบ รักน้อง รู้สึกว่าผู้ใหญ่ในชุมชนสนใจพวกเขา หลายคนติดหนังสือ แน่นอน พวกเขาได้รับความชื่นชมยินดีจากผู้ใหญ่รอบตัว และยังรับค่าขนมจากการทำงานอีกด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมง่ายๆ ที่เรียกว่า “การอ่านหนังสือให้น้องฟัง” นำมาซึ่งความสุขและความอิ่มเอมใจของทุกคนในชุมชน

ผู้ใหญ่ในชุมชนเทศบาลตำบลเมืองแกที่เกี่ยวข้องในกระบวนนี้ ไม่เคยมีใครเอ่ยเลยว่า เด็กๆไม่อ่านหนังสือ เพราะพวกเขาประจักษ์ชัดแล้วว่า เด็กๆในชุมชนของพวกเขาชื่นชอบการหนังสือ และชอบคนมาอ่านหนังสือให้ฟัง เมื่อวันที่น้องๆเหล่านี้เติบโต เทศบาลก็สามารถใช้งบประมาณสร้างสรรค์พื้นที่แห่งการอ่านที่มีความสนุก เต็มไปด้วยสุข และหนังสือที่ถูกใจ เด็กๆจะไปไหนเสีย เพราะพวกสมองของพวกเขา บันทึกไว้อย่างมั่นคงตั้งแต่เล็กๆ แล้วว่า หนังสือคือความสุข การอ่านคือความสุข

ผู้เขียนบทความ : ระพีพรรณ พัฒนาเวช