สร้างประชาชาติแห่งการอ่าน

๑. สร้างกิจกรรมการอ่านเพื่อความเพลิดเพลินในองคาพยพที่เกี่ยวข้อง 

ก. การอ่านในครอบครัว เรื่องนี้ไม่มีใครบอกได้ชัดเจนว่าจะต้องทำอย่างไร จึงจะเกิดผลที่ชัดเจนในวงกว้าง แต่เป็นเรื่องรากฐานที่สำคัญ เพราะหากเริ่มที่ครอบครัวได้ ทุกอย่างก็ง่าย แต่ครอบครัวที่สนใจและจริงจังกับการเลี้ยงดูลูกจริงๆก็มีน้อย และการอ่านของสมาชิกในครอบครัวน้อย ส่วนใหญ่จึงไม่เข้าใจความสำคัญของการอ่านในเด็ก เมื่อพ่อแม่ผู้ใหญ่ในบ้านไม่อ่าน การจะส่งเสริมให้ทำในสิ่งที่ไม่คุ้นเคยก็ยากขึ้น ครอบครัวที่ประสบความสำเร็จจึงประกอบด้วยผู้ปกครองที่เป็นนักอ่านและมีความรู้เป็นส่วนใหญ่

ข. โรงเรียน : พัฒนาการอ่านเพื่อความเพลิดเพลินในเด็ก

– “การอ่านให้ฟัง” ที่สมาคมไทสร้างสรรค์ ทำงานผลักดันมาโดยตลอดได้ผลน้อยมากเมื่อทำงานกับโรงเรียน เนื่องจากครูมองการอ่านเป็นเรื่องให้เด็กอ่านเองและอ่านหาความรู้(ข้อมูล)​ตั้งแต่เริ่มต้น กิจกรรมการอ่านที่โรงเรียนทำจึงไม่ได้ผล ทั้งยังทำให้เด็กหมดความสนใจในการอ่าน การอ่านถูกทำให้เป็นงานอันน่าเบื่อ

หนังสือในห้องสมุด เต็มไปด้วยหนังสือความรู้ (วรรณคดี โบราณคดี ประวัติศาสตรฺ์ ฯลฯ) ซึ่งไม่ใช่หนังสือที่เด็กๆสนใจ เด็กจึงแทบไม่ได้ประโยชน์

ทักษะการอ่าน เด็ก ๘๐% มีทักษะการอ่านต่ำกว่าเกณฑ์ความสามารถตามระดับชั้นเรียน ผู้เขียนพบว่าเด็ก ป.๔-ม.๓ ส่วนใหญ่มีทักษะการอ่านอยู่ในระดับประถมศึกษาชั้นต้นๆเท่านั้น ดังนั้นต่อให้มีหนังสือดีมากเพียงใดเด็กก็ไม่อ่าน เมื่อการอ่านเป็นความยากลำบากของพวกเขา

การอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน เป็นสิ่งที่ครูจำนวนมากนึกไม่ออกว่าจะเกิดประโยชน์อันใดต่อเด็ก เพราะครูเองก็ไม่ได้ชอบอ่านหนังสือเพื่อความเพลิดเพลิน ไม่อ่านนิยาย นิตยสาร ฯลฯ การอ่านจึงไม่ได้อยู่ในความสนใจส่วนตัว ไม่รู้จักหนังสือ การส่งเสริมให้เด็กทำในสิ่งที่ตนเองก็ไม่สนใจจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

บันทึกการอ่าน นอกจากจะเป็นเรื่องหลอกลวงแล้ว ยังทำให้เด็กเห็นการอ่านเป็นภาระอันหนักหน่วง แม้แต่เด็กๆในห้องสมุดเด็กที่ผู้เขียนทำงาน ที่อ่านวรรณกรรมเดือนละ ๕-๘ เล่มเป็นปกติ ก็ยังต้องทำรายงานปลอมขึ้นมาส่งครู เพราะอ่านไม่ไหว จำนวนมากเกินไป ไม่ใช่หนังสือที่พวกเขาสนใจ ฯลฯ ​ บันทึกการอ่านจึงเป็นบาปที่สร้างขึ้นโดยโรงเรียนอย่างแท้จริง เพราะทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งเด็ก ครู ผู้บริหาร และศึกษานิเทศ ล้วนรู้ว่าไม่จริง เด็กไม่ได้อ่านจริง แต่มีรายงานส่งครูเพื่อเอาคะแนน ส่วนครูก็เก็บเอาไว้รอการประเมิน และทุกฝ่ายก็ยอมรับกันเป็นปกติสุข ไม่เคยตั้งคำถามว่าจะส่งผลอย่างไรต่อเด็กและประเทศชาติ (น่าจะมีการศึกษาวิจัยว่ามันส่งผลไปถึงพฤติกรรมการโกงในอนาคตอย่างไรบ้าง แต่ที่พบมาด้วยตนเอง เด็กจำนวนทำการทุจริตได้โดยไม่มีท่าทีรู้สึกผิดเลย และเป็นเหมือนๆกันในทุกภูมิภาคที่ทำงาน)

ดังนั้น ในเมื่อโรงเรียนเป็นกลไกที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเด็กทั้งประเทศ โรงเรียนจึงมีหน้าที่ในการพัฒนาการอ่านเพื่อความเพลิดเพลินให้เกิดขึ้นในเด็กให้จงได้ หากโรงเรียนไม่มีความรู้ ก็ต้องได้รับการสนับสนุนให้พัฒนาขึ้น ทั้งโดยนโยบาย งบประมาณ และความเชี่ยวชาญภายนอก เพราะหากโรงเรียนทำไม่ได้ เด็กๆก็ต้องใช้โชค ซึ่งจะมีเด็กที่โชคดีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น

๒. สถาบันฝึกหัดครู : จบครูต้องมีความรู้การพัฒนาการอ่าน

โรงเรียนสอนครูเป็นต้นน้ำ หากจบครูมาพร้อมกับความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการพัฒนการอ่านในเด็ก การจะก้าวไปสู่ประชาชาติแห่งการอ่านก็คงไม่ยาก เพราะความยากลำบากในการผลักดันให้เกิดผล ล้วนเกิดจากข้อจำกัดด้านความรู้และทักษะของครู โดยเกือบทั้งหมดยังติดอยู่กับการ “เล่านิทาน” ซึ่งส่งผลแตกต่างจากการอ่านหนังสือให้ฟัง ครูไม่รู้เทคนิคการจัดการการอ่านในชั้นเรียน เลือกหนังสือไม่เป็น ไม่รู้จักหนังสือ ไม่เข้าใจ “อายุหนังสือ vs อายุเด็ก” ไม่เข้าใจ “อายุการฟังสะสม vs อายุหนังสือ” ไม่รู้ประโยชน์ของการอ่านให้ฟังซ้ำๆ ฯลฯ การอ่านให้ฟังจึงมีความหมายเพียงกิจกรรมสนุกๆเล็กน้อย ฯลฯ

๓. สร้างความรู้ : การพัฒนาการอ่านและหนังสือ

เป็นเรื่องน่าแปลกใจมากที่คนมีหน้าที่เกี่ยวกับการพัฒนาการอ่านส่วนใหญ่มีความรู้ด้านหนังสือจำกัดมาก โดยเฉพาะในกลุ่มหนังสือสำหรับเด็กและเยาวชน เมื่อไม่รู้จักหนังสือ มองไม่ออกว่าเสน่ห์ของหนังสือเล่มนั้นๆอยู่ตรงไหน สนุกหรือน่าสนใจอย่าง การผลักดันให้กลุ่มเป้าหมายสนใจที่อ่านจึงไม่เป็นไม่ได้ การสร้างความรู้ทั้งเชิงลึกและกว้างให้บุคลากรที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นความจำเป็นยิ่งยวด