ทำอย่างไรให้เด็กไทยอยากอ่าน

เป็นที่รู้กันว่าทักษะการอ่านของเด็กไทยตกต่ำลงตลอดเวลา สมาคมไทสร้างสรรค์ ดำเนินงานด้านการอ่านอยู่ใน ๓๐-๔๐ หมู่บ้านในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่าสภาพการณ์ด้านการอ่านของเด็กเลวร้ายกว่าที่สังคมรับรู้ ด้วยพบว่า เด็กประถมศึกษาปีที่ ๕-มัธยมศึกษาปีที่ ๒ ที่สมาคมฯต้องทำงานด้วย มีปัญหาทักษะการอ่านถึงประมาณร้อยละ ๕๐ ในภาคเหนือ ร้อยละ ๘๐ ในพื้นที่ภาคอีสานตอนใต้ และร้อยละ ๑๐๐ ในหลายหมู่บ้านของภาคอีสานตอนบน จากการทดสอบการอ่านพบไม่มีนักเรียนประถม-มัธยมต้นคนใดที่มีทักษะอ่านที่ดีเพียงพอสำหรับทำหน้าที่อ่านหนังสือภาพให้เด็กปฐมวัยฟังเลย จึงอนุมานได้ว่าสิ่งที่สมาคมไทสร้างสรรค์พบ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหา
ที่เป็นรากเง่าของปัญหาการศึกษาทั้งหมดในเด็ก และหากพิจารณาข้อเท็จริงที่ว่า หากอ่านหนังสือมากพอย่อมเกิดผลเชิงบวกต่อคุณภาพชีวิตในทุกมิติ 

แต่การที่เด็กจะอ่านหนังสือหรือไม่อ่านประกอบด้วยสองปัจจัยหลัก ๒ ประการคือ ๑. ทักษะการอ่าน ซึ่งเด็กส่วนใหญ่ของประเทศกำลังประสบปัญหาอยู่ และ ๒.ความสนใจหนังสือ เนื่องจากเด็กที่มีทักษะการอ่านดีก็ไม่ได้หมายคยวามว่าเขาจะอยากอ่านหนังสือ ดังนั้นการสร้างนักอ่านที่สมคมไทสร้างสรรค์ดำเนินอยู่จึงทำงานเพื่อให้เด็กเกิดทักษะการอ่าน (ลดปัญหาการอ่านไม่ออก) และส่งเสริมความรัก ความชื่นชอบและความเพลิดเพลินไปกับการอ่านหนังสือไปพร้อมๆ กัน สมาคมไทสร้างสรรค์เลือกวิธีทำงาน ดังนี้

๑. การอ่านให้ฟัง 

สิ่งที่สมาคมไทสร้างสรรค์ ดำเนินงานมาตลอดเวลา ๑๘ ปี (ตั้งแต่ พ.ศ ๒๕๔๓) คือการผลักดันให้เกิดการอ่านหนังสือให้เด็กฟัง ผ่านการทำงานหลากหลายรูปแบบ ทั้งห้องสมุดเด็กในรูปแบบต่างๆ โครงการส่งเสริมฯ ในชุมชน การอบรม ฯลฯ ล้วนพุ่งเป้าไปที่ผลประการเดียวคือ “ทำให้เกิดการอ่านให้ฟัง” ทั้งในระดับครัวเรือน ชั้นเรียนและในห้องสมุด โดยทางกายภาพ คนส่วนใหญ่มุ่งเน้นการสร้างให้เกิดพื้นที่ห้องสมุดหรือสิ่งอำนวยความสะดวกทางกายภาพขึ้นมา เมื่อสร้างเสร็จก็มักจะถือว่าดำเนินกิจกรรมทางการอ่านสำเร็จแล้ว แต่ในความเป็นจริง การสร้างห้องสมุด กับ การสร้างนักอ่านเป็นคนละเรื่องกัน

ดังนั้น สมาคมไทสร้างสรรค์ จึงยุติการทำงานก่อตั้งห้องสมุดเด็กตั้งแต่ พ.ศ ๒๕๕๖ และเริ่มโครงการสร้างนักอ่าน
อย่างจริงจัง โดยการจ้างเยาวชน (นักเรียน ป.๕-ม.๒) เดินไปหาเด็กปฐมวัยตามบ้าน เพื่อเป็นสมาชิกแล้วเยาวชนจะต้องไปอ่านหนังสือให้ฟังทุกวันในปริมาณที่มากพอ ด้วยความเชื่อมั่นว่า วิธีนี้จะตัดปัญหาเด็กอ่านไม่ออกในพื้นที่ที่ทำงาน และช่วยสร้างจากแรงขับภายในให้เด็กสนใจในการอ่าน จนนำไปสู่การอ่านด้วยตนเองและเป็นนักอ่านในที่สุด ซึ่งพบว่าเด็กเล็กที่มีอัตราการฟังสะสมมากกว่า ๙๐๐ เล่มมีพัฒนาการทางภาษาโดดเด่นชัดเจน ทักษะการอ่านและเขียนพัฒนาอย่างรวดเร็วเมื่อเข้าเรียนในชั้นประถมศึกษา

การอ่านให้ฟัง จึงเป็นทั้งยุทธศาสตร์และเป้าหมายในตัวเอง กล่าวคือเป็นกิจกรรมเชิงกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการส่งเสริมและพัฒนาการอ่าน ที่จะวางรากฐานให้เกิดแก่เด็กได้ แต่การผลักดันให้เกิดการอ่านให้ฟังอย่างต่อเนื่องในองคาพยพที่เกี่ยวข้องกับเด็ก (ครัวเรือน ศูนย์พัฒนาเด็ก ชั้นอนุบาล ห้องสมุด และโรงเรียนประถมศึกษา) เป็นสิ่งที่จะต้องสร้างให้เกิดขึ้นได้จริง เนื่องจากผู้เกี่ยวข้องเกือบร้อยละร้อย ไม่พร้อมที่จะ

ลงมือทำ ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีความเชื่อมั่น ไม่มีทักษะ ไม่มีความรู้ และมีข้ออ้างต่างๆอีกมากมายในการที่จะไม่ลงมือทำ จึงไม่เคยเกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในสังคมจนเป็นผลเชิงประจักษ์

๒. คุณภาพหนังสือ 

สมาคมไทสร้างสรรค์ เป็นองค์กรที่มุ่งใช้หนังสือที่มีคุณภาพ โดยทำการคัดกรองหนังสือประสิทธิภาพสูง ที่สามารถสร้างความสนใจให้เกิดแก่เด็กได้รวดเร็ว ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างความสำเร็จในกระบวนการสร้างนักอ่านรุ่นแรก กระทั่งประสบความสำเร็จทางการศึกษาอย่างดียิ่ง กลายเป็นนักอ่านประสิทธิภาพสูง มีความรอบรู้ มีความสามารถสูง แต่พบว่าหนังสือชั้นเลิศ หรือหนังสือระดับโลกที่มีการผลิตหรือเคยได้รับการผลิตในประเทศ ทยอยหายไปจากตลาดหนังสือ ปัญหานี้น่าจะเกิดจากความไม่เข้าใจของผู้บริโภค

การสร้างความรู้ความเข้าใจด้านหนังสือสำหรับเด็กให้เกิดแก่ผู้บริโภค และผู้ปฏิบัติงานจึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการด้วยกลไกที่ต่อเนื่อง เพื่อสร้างดีมานด์หนังสือดี ให้หนังสือชั้นเลิศสามารถจำหน่ายได้ เป็นแกนหลักในพัฒนาการอ่าน

๓. สร้างความรู้ สร้างการรับรู้ 

ความรู้ที่จำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายทางการอ่านประกอบด้วย ความรู้ด้านหนังสือสำหรับเด็ก หรือความรู้ในสาขาการพัฒนาการอ่านของเรามีน้อย ดังนั้น การทำงานกับสถาบันทางการศึกษา อาทิ สถาบันฝึกหัดครู จึงมีความจำเป็นมาก เพื่อให้บุคลากรที่จะออกมาทำงานกับเด็กมีทักษะ ความรู้และความเข้าใจกระบวนการพัฒนาการอ่าน ความหมายต่างๆ ที่มีอยู่ในหนังสือภาพสำหรับเด็ก ปฏิสัมพันธ์ที่ผู้อ่าน เด็กและหนังสือมีต่อกัน โดยเริ่มต้นที่การใช้หนังสือภาพสำหรับเด็ก ทว่าเป้าหมายไปการเลือกหนังสือที่จะอ่านเองตามความสนใจ และอ่านจนเป็นนิสัย นอกจากนั้น การสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้เกิดแก่กลไกที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็ก อาทิ ศูนย์พัฒนาเด็กที่มีเด็กอายุ ๒-๔ ปีอยู่ในความดูแลมากกว่า ๑,๐๐๐,๐๐๐ คน จึงเป็นความสำคัญยิ่งยวด และมีความเป็นไปได้เพราะองค์กรที่ดูแลเด็กในวัยนี้ยังมีความยืดหยุ่นทางการพัฒนา จึงยังคงสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการได้ไม่ยาก

อนึ่ง สมาคมไทสร้างสรรค์ ได้พยายามนำเสนอการอ่านในฐานะเครื่องมือการสร้างสุขภาวะให้เกิดในกลไกสาธารณสุข ซึ่งได้รับการตอบรับเชิงบวก ทว่ายังดำเนินการได้จำกัด แต่พบว่าเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาไปสู่การสร้างนักอ่านและลดปัญหาเด็กไทยอ่านไม่ออก ในโอกาสนี้ หน่วยงานด้านต่างๆ สามารถตีความหรือถอดความกิจกรรม “การสร้างนักอ่าน” ให้เข้ากับหน่วยงานของตน ทั้งด้านการสร้างความสามารถทางการเรียน ความสนใจเข้าใจปัญหาสิ่งแวดล้อม ความเข้าใจหน้าที่พลเมือง การสร้างความสามารถทางการแข่งขัน การรู้เท่าทันสื่อ ฯลฯ ทั้งปวงล้วนเริ่มต้นจากการอ่านออก และสนใจที่จะอ่าน ดังนั้น การนำเสนอเนื้อหาในทุกแง่มุมที่จะเกื้อหนุนต่อหน่วยงานที่สนใจจึงแตกแขนงและแตกต่างไปตามลักษณะเฉพาะของแต่ละหน่วยงาน จนสามารถกระทำการด้านการอ่าน เป็นแนวทางที่นำไปสู่ความสำเร็จในระดับชาติได้

ผู้เขียนบทความ : ธีรวงศ์ ธนิษฐ์เวธน์